ประชาธิปไตย : จากทุนนิยมเสรี  สู่วิถีธรรมาธิปไตย

ธนภณ   สมหวัง

หัวหน้าหมวดวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

สำนักวิชาการศึกษาทั่วไป มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  ฉบับวันพุธที่  22 ธันวาคม 2547

 

 

                แม้หลาย ๆ คนจะถือว่า  ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด เป็นเพียงระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุดก็ตาม  แต่ระบอบการปกครองแบบนี้ก็ได้รับความนิยมไปทั่วโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังการล่มสลายของลัทธิคอมมิวนิสม์ในสหภาพโซเวียตและยุโรปตะวันออก  อันถือได้ว่า  เป็นความยิ่งใหญ่และชัยชนะอันสูงสุดของลัทธิประชาธิปไตย 

                ในขณะเดียวกัน  การที่โลกส่วนใหญ่ที่ปกครองด้วยด้วยระบอบประชาธิปไตยยังต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ก็เป็นเครื่องบ่งบอกอยู่ในตัวว่า ในปัจจุบันประชาธิปไตยยังมิใช่ทางออกที่ดีที่สุด  และมนุษย์เองก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จในการที่จะจัดสรรระบบความเป็นอยู่ของมนุษย์ด้วยกันเองให้ลงตัวได้ดีที่สุด 

                โดยทั่วไปแล้ว  ประชาธิปไตยสามารถพิจารณาได้ใน  2  ลักษณะ คือ ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา  ทั้งสองส่วนนี้ต้องอิงอาศัยกันและกัน  รูปแบบหรือระบบที่ดี  ไม่ว่าจะเป็นระบบพรรคการเมือง  การเลือกตั้ง  การจัดตั้งรัฐบาล  รัฐสภาที่ดีเป็นต้น    ย่อมจะช่วยรักษาและพัฒนาเนื้อหาหรือสาระของประชาธิปไตยให้สมบูรณ์ได้   อย่างไรก็ตาม  ส่วนที่สำคัญที่สุด ก็คือ เนื้อหาสาระของประชาธิปไตย  การมีรูปแบบหรือระบบที่ดีนั้นก็เพื่อที่จะรักษาเนื้อหาสาระนี้ไว้

                พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์  ปยุตโต) วัดญาณเวศกวัน จังหวัดนครปฐม  พระเถระนักปราชญ์ร่วมสมัยที่ได้รับการยอมรับจากทั้งในและนอกประเทศ   ได้เสนอแนวคิดที่เป็นแง่คิดและข้อสังเกตเกี่ยวกับประชาธิปไตยไว้อย่างน่าสนใจ  จึงขอนำเอาสาระที่สำคัญมานำเสนอ  เพื่อเป็นเครื่องตรวจสอบประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้ว่า   มีสถานภาพเช่นใด  และควรจะเป็นอย่างไรเป็นต้น

การปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้น  เป็นระบบการปกครองที่จัดสรรสังคมเพื่อให้เกิด “โอกาส” ที่ดีที่สุดในการสร้างสรรค์  ที่จะทำให้ชีวิตและสังคมบรรลุประโยชน์สูงสุด    โอกาสจึงเป็นสิ่งที่ประชาธิปไตยให้เพื่อให้แต่ละบุคคลได้มีโอกาสที่จะพัฒนาตัวเอง  พัฒนาชีวิตและพัฒนาศักยภาพของตน  ให้ชีวิตเจริญงอกงาม  และให้ประชาชนเหล่านั้นแต่ละคนมีโอกาสที่จะนำเอาศักยภาพของตนออกไปร่วมสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าและประโยชน์สุขให้แก่สังคม  เช่น ด้วยการมีสิทธิเสรีภาพในการเลือกตั้งและสมัครรับเลือกตั้ง

                เพื่อที่จะให้ “โอกาส” ทั้งสองด้านดังกล่าวนี้เกิดขึ้นและมาบรรจบกัน   ระบบประชาธิปไตยจึงมีหลักการสำคัญ  3 ข้อ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างโอกาส คือ

1.     เสรีภาพ (liberty, freedom)  ความเป็นอิสระ  ไม่มีอะไรมากีดกั้นจำกัด  หรือความมีสิทธิที่จะทำจะพูดได้  โดยไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ภายใต้เงื่อนไข  ข้อกำหนด หรือความคุ้มครองของกฎหมาย  เสรีภาพนี้เป็นเครื่องมือเพื่อสร้างและเปิดโอกาสให้ศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละบุคคลให้ออกมามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์สังคม

2.     เสมอภาค (equality) หรือสมานภาพ  ความเสมอภาค  ความมีสมานฉันท์  หรือการร่วมสุขร่วมทุกข์ ร่วมในการสร้างสรรค์หรือแก้ไขปัญหา  เสมอภาคโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง  ไม่ดูถูกดูหมิ่นเหยียดหยามกัน รวมทั้งไม่เอารัดเอาเปรียบกัน  การใช้เสรีภาพในข้อที่ 1 จึงต้องมีขอบเขตในการที่จะไม่ก้าวล้ำ  ไม่ละเมิดต่อผู้อื่น  มีโอกาสที่จะใช้เสรีภาพอย่างเท่าเทียมกัน  

3.     ภราดรภาพ (fraternity) หรือความสามัคคี  เอกภาพหรือเอกีภาพ  ความเป็นพี่เป็นน้องกัน  ความประสานรวมเข้ากันได้  หรือการรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เป็นฐานและเป็นสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้การใช้เสรีภาพและความเสมอภาค  เกิดผลงอกงามและสัมฤทธิ์ผล

 

ไดอะแกรมเวนน์

                เนื้อหาสาระของประชาธิปไตยทั้งสามประการนี้  จะต้องเป็นไปโดยผสมผสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  การใช้เสรีภาพ  และสมานภาพ/ความเสมอภาค จะต้องกระทำโดยการประสานร่วมมือและรวมกำลังกัน  โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การเปิดโอกาส  เพื่อนำเอาศักยภาพของทุกคนออกมาร่วมกันสร้างสรรค์สังคมให้ร่มเย็นเป็นสุข

                หากตรวจสอบดูเนื้อหาประชาธิปไตยในโลกปัจจุบันนี้  จะพบว่า  ได้ถูกอิทธิพลของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้าครอบงำหรือแทรกแซง จนกลายเป็นประชาธิปไตยแบบทุนนิยมหรือประชาธิปไตยแบบตลาดเสรี (free-market democracy) จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า หลักการประชาธิปไตยในปัจจุบันนี้  ยังเป็นหลักการที่แท้จริงหรือไม่   เพราะความหมายของเสรีภาพถูกเน้นหนักไปในแง่ของการมีโอกาสที่จะแย่งชิงผลประโยชน์กัน 

                เมื่อความหมายของเสรีภาพเริ่มเขว  ความเสมอภาคก็เขวตามไปด้วย  ความเสมอภาคแทนที่จะเป็นเครื่องมือมาช่วยสมานสังคม  ก็กลายเป็นเครื่องสร้างความแตกแยก  โดยมีความหมายในเชิงแก่งแย่งผลประโยชน์กัน  ภราดรภาพหรือความสามัคคีประสานร่วมมือและรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการสร้างสรรค์สังคมก็ไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น  ทุกคนจึงต้องหันมาทบทวนและตรวจสอบความหมายของหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยว่า  ยังเป็นไปตามหลักการที่แท้จริงหรือไม่  หรือถูกครอบงำด้วยแนวคิดทางด้านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือลัทธิการตลาดเสรี  วาทะของประธานาธิบดีอับราฮัม  ลินคอล์น ที่ว่า “ประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน  โดยประชาชน  เพื่อประชาชน”  เป็นการเตือนให้ตระหนักว่า “คุณภาพของประชาธิปไตย  อยู่ที่คุณภาพของประชาชนเป็นสำคัญ  ถ้าประชาชนมีคุณภาพดี  ประชาธิปไตยก็มีคุณภาพดีด้วย  ถ้าประชาชนมีคุณภาพต่ำ  ประชาธิปไตยก็จะเป็นประชาธิปไตยอย่างเลวด้วย  เพราะคุณภาพของประชาธิปไตยขึ้นต่อคุณภาพของประชาชน  และคุณภาพของประชาชนก็ขึ้นต่อคุณภาพของการศึกษา” 

                การสร้างสรรค์ประชาธิปไตย  จึงต้องเริ่มจากการพัฒนาและสร้างสรรค์คุณสมบัติแห่งความเป็นประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในแต่ละบุคคล  คุณสมบัติดังกล่าว เรียกว่า “ธรรมาธิปไตย” ซึ่งหมายถึงแต่ละคนจะต้องถือธรรมเป็นใหญ่  ยึดถือความจริง  ถือหลักการ  ตลอดจนกฎเกณฑ์กติกาเป็นใหญ่  เป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ  เรียกสั้น ๆ ว่า “หลักการ”  หรือ “ธรรม”   ซึ่งมี  2  ระดับ คือ

1.       หลักการคือตัวความจริง  ความถูกต้องดีงาม  ความเป็นเหตุผลในสิ่งทั้งหลายที่เป็นความจริงอยู่โดยธรรมดาในธรรมชาติ

2.     หลักการที่มนุษย์บัญญัติวางขึ้น  โดยใช้ปัญญาพิจารณาถึงความจริง ความถูกต้องดีงามในข้อ 1.  แล้วยกขึ้นมาตั้งเป็นข้อกำหนดในสังคม  ให้ทุกคนยึดถือปฏิบัติตาม  เช่นวางเป็นกฎเกณฑ์  กติกา  หรือกฎหมาย

                ถ้าบุคคลใดยึดถือธรรม คือ หลักการตามความหมาย  2  อย่างข้างต้นนั้นเป็นใหญ่  คือ เป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ  บุคคลผู้นั้นก็เป็นธรรมาธิปไตย

                ถ้าสังคมใด  มีบุคคลที่เป็นธรรมาธิปไตย  เข้ามาปฏิบัติการต่าง ๆ ในสังคม  โดยใช้ระบบประชาธิปไตยที่จัดตั้งไว้เป็นสื่อและเป็นเครื่องมือดำเนินการ  สังคมนั้นก็จะเป็นสังคมประชาธิปไตยที่ดี

                เมื่อพินิจธรรมที่พระพรหมคุณาภรณ์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ ก็น่าตั้งคำถามว่า ประชาธิปไตยในบ้านเมืองเราที่กำลังโหมโรงกันอยู่ในขณะนี้  พัฒนาไปถึงไหนแล้ว หรือนักการเมืองยังวนเวียนกันอยู่แต่ในเรื่องผลประโยชน์  อำนาจ    และพวก้องเท่านั้น