‘สันโดษ’ สินทรัพย์ที่ต้องแปลงเป็นทุน

สิทธา สมหวัง มหาวิทยาลัยศรีปทุม

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีศาสตราจารย์ด้านเจียระไนอัญมณีจากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐ ชื่อ Maxwell Sommerville เดินทางเข้ามาในประเทศแถบเอเชียและเดินทางมายังดินแดนสยาม ได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมายเกี่ยวกับสังคมไทยสมัยนั้น

และได้บันทึกไว้เป็นหนังสือชื่อ "Siam on the Meinam from the Gulf to Ayuthia" ซึ่งนักวิชาการกรมศิลปากรได้แปลและเรียบเรียงเป็นภาษาไทยในชื่อ "สยามริมฝั่งเจ้าพระยา"

ในตอนหนึ่งของหนังสือ "สยามริมฝั่งเจ้าพระยา" ศาสตราจารย์ Sommerville ได้บันทึกประสบการณ์ไว้ว่า "ชาวสยามเป็นชนชาติที่ดูมีความสุข พอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และมีอุปนิสัยที่เรียบง่าย รู้จักประมาณตน และไม่มีความต้องการสิ่งใดๆ เกินฐานะ"

ภาพของคนไทยที่ถูกบันทึกไว้เมื่อหลายร้อยปีที่ผ่านมานี้ แม้ว่าอาจจะไม่ใช่ตัวแทนของคนไทยทั้งหมดในสมัยนั้น แต่อย่างน้อยก็คงพอจะบอกถึงลักษณะอุปนิสัยใจคอของคนไทยในสมัยนั้นได้บ้างว่า มีความเป็นอยู่อย่างไร

ภาพแห่งความเป็นผู้มีอุปนิสัยเรียบง่าย รู้จักประมาณตน และไม่มีความต้องการสิ่งใดๆ เกินฐานะของคนไทยนี้ คงเป็นคุณลักษณะที่สืบเนื่องมานานในนิสัยของคนไทย ที่ได้รับการปลูกฝังและสั่งสมกันมาในวัฒนธรรมไทย ดังจะเห็นได้จากการที่คนไทยเป็นคนที่มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ ยิ้มง่าย

ต่อมา เมื่อสังคมไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคการพัฒนาประเทศ ตามแบบอย่างตะวันตกด้วยการกำหนดให้มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1 ขึ้น ในปี พ.ศ.2504 ซึ่งต่อมาได้เพิ่มคำว่า "และสังคม" ในแผนฉบับต่อมา กลายเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐบาลในยุคนั้นได้เร่งรัดการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าด้วยมาตรการต่างๆ

และสิ่งหนึ่งที่รัฐบาลในยุคนั้นเชื่อว่า จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างรวดเร็ว ก็คือ การกระตุ้นให้ประชาชนมีความอยากมากๆ ไม่ว่าจะเป็นอยากกิน อยากร่ำรวย อยากมีสิ่งฟุ่มเฟือยบำรุงบำเรอตนเอง อยากได้เงินมากๆ

รัฐบาลจึงมีคำขวัญออกมาทางวิทยุทุกวันว่า "งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข" และอีกคำขวัญหนึ่งว่า "ศึกษาดี มีเงินใช้ ไร้โรคา พาให้สุขสมบูรณ์" (การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยพระธรรมปิฎก, หน้า 23)

ฐานความคิดในการพัฒนาประเทศของรัฐบาลในยุคนั้น ก็คือการมองว่า การพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าสามารถทัดเทียมกับต่างประเทศได้นั้น จะต้องกระตุ้นให้ประชาชนมีความอยากมากๆ ในขณะเดียวกันก็มองว่า ถ้าประชาชนมีความมักน้อยสันโดษ รู้จักอิ่มรู้จักพอในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ก็จะไม่กระตือรือร้นขวนขวาย ประเทศชาติก็จะไม่เจริญก้าวหน้า

รัฐบาลจึงได้มีสาส์นขอความร่วมมือจากพระสงฆ์ ไม่ให้สอนหลักธรรมเรื่องสันโดษ เพราะจะเป็นการขัดขวาง ไม่เกื้อหนุนต่อนโยบายการพัฒนาประเทศ

ดังความตอนหนึ่งว่า "นี้เป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลและกระผมเองร้องขอ เพราะเหตุว่า พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีอยู่ทุกทางที่สามารถจะเลือกเอามาสอนหรือจูงใจให้คนประพฤติปฏิบัติ มีคำสอนให้คนมักน้อยสันโดษ ไม่อยากทำอะไร ไม่อยากได้อะไร อย่างที่เคยสอนกันว่า ไม่จำเป็นต้องขวนขวาย ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ คำสอนอย่างนี้อาจจะเหมาะสำหรับกาลสมัยหนึ่ง แต่จะไม่เหมาะสำหรับสมัยปฏิวัติ ซึ่งต้องการความขวนขวายทางก้าวหน้า...." (เรื่องเดียวกัน, หน้า 24)

ไม่ว่าคำร้องขอของทางฝ่ายรัฐไปยังคณะสงฆ์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ก็ตาม สังคมไทยในยุคต่อมาภายใต้เข็มทิศของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่างๆ ที่เชื่ออยู่เสมอว่า "เศรษฐกิจดี สังคมไม่มีปัญหา การพัฒนายั่งยืน" เราก็จะพบได้ไม่ยากว่า สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจมาโดยลำดับ และภาพของคนไทยอย่างที่ศาสตราจารย์ Sommerville เคยพบเห็นเมื่อสมัยในหลวงรัชกาลที่ 5 นั้น ได้เลือนหายไปตามลำดับ แม้ว่าในแผนพัฒนาฉบับหลังๆ จะเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก็เน้นการพัฒนาเพื่อรับใช้ระบบเศรษฐกิจนั่นเองเป็นสำคัญ

"สันโดษ" เป็นสิ่งที่ถูกละเลยและเมินเฉยมาโดยตลอด ในยามที่ประเทศชาติกำลังก้าวไปสู่ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่เป็นหลักธรรมที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา ในขณะเดียวกันก็เป็นหลักธรรมที่มีผู้เข้าใจคลาดเคลื่อนเป็นจำนวนมาก อาจจะสืบเนื่องมาจากคำพูดของคนไทยว่า "มักน้อยสันโดษ" หรือ "การปลีกตัวจากสังคมไปอยู่สงบเงียบ หรือการไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร" ก็ได้ ซึ่งเป็นคำที่มีนัยแฝงว่า เกียจคร้าน หรือ ไม่กระตือรือร้น อันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ

คำว่า สันโดษ มาจากภาษาบาลีว่า สนฺตุฏฺฐี ซึ่งมีความหมายว่า ความยินดี ความพอใจ ความยินดีในของของตน การมีความสุขความพอใจด้วยเครื่องเลี้ยงชีพที่หามาได้ด้วยความเพียรพยายามอันชอบธรรมของตน ไม่โลภ ไม่ริษยาใคร ความสันโดษ จึงเป็นความพึงพอใจในผลสำเร็จ มีความสุขในสิ่งที่ตนเองแสวงหามาได้ หรือในผลที่ตนสร้างขึ้นด้วยความบากบั่น ด้วยการทุ่มเทพละกำลังทั้งหมดลงไป

พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ได้แสดงลักษณะของบุคคลที่สันโดษและผู้ขาดสันโดษไว้ในหนังสือพุทธศาสนากับสังคมไทย (หน้า 154) ไว้ดังนี้

บุคคลที่สันโดษ

  1. ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความเพียรและปัญญาเท่าที่เหมาะสมกับภาวะของตน และเป็นการชอบธรรม
  2. ไม่อยากได้ของผู้อื่น หรือของที่ไม่ชอบธรรม ไม่ทำการทุจริตเพราะปากท้องและผลประโยชน์ส่วนตัว
  3. เมื่อทำมาหาเลี้ยงชีพได้สิ่งของมา ก็ไม่ติด ไม่หมกมุ่นมัวเมา ไม่กลายเป็นทาสของสิ่งเหล่านั้น
  4. เมื่อไม่ได้ เมื่อพยายามจนสุดวิสัยแล้วไม่สำเร็จ ก็ไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย ไม่ถูกความผิดหวังครอบงำ
  5. ไม่ถือเอาสิ่งที่ตนหาได้ สมบัติของตน หรือผลสำเร็จของตน มาเป็นเหตุยกตนข่มผู้อื่น
  6. หาความสุขได้จากสิ่งที่เป็นของตน หรือเป็นสิทธิของตน สามารถดำรงชีวิตที่มีความสุขได้
  7. มีความภาคภูมิใจในผลสำเร็จที่เกิดจากเรี่ยวแรงกำลังงานของตน มีความอดทน สามารถรอคอยผลสำเร็จที่จะพึงเกิดขึ้น จากการกระทำของตน
  8. มีความรักและภักดีในหน้าที่การงานของตน มุ่งหน้าปฏิบัติหน้าที่การงานให้ก้าวหน้าและบรรลุความสำเร็จ

ผู้ขาดสันโดษ

  1. การเบียดเบียนกันเพราะอยากได้ของผู้อื่น
  2. การทุจริต เพราะอยากได้ แต่ไม่อยากทำ หรืออยากได้ทางลัด
  3. ความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย แต่ไม่ชอบทำการงาน
  4. ความทอดทิ้งละเลย ไม่เอาใจใส่หน้าที่การงาน ทุจริตต่อหน้าที่
  5. ความเกียจคร้าน เฉื่อยชา
  6. ความเดือดร้อนใจ กระวนกระวาย รุ่มร้อน หาความสุขไม่ได้ เพราะไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ มีความไม่พอใจอยู่ตลอดเวลา

จากการเปรียบเทียบลักษณะของผู้ที่สันโดษและไม่สันโดษที่พระธรรมปิฎกแสดงดังกล่าว เราคงต้องถามว่า ในการพัฒนาประเทศ เราต้องการบุคคลที่มีคุณลักษณะอย่างไร

ปัญหาสังคมที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาอาชญากรรม การคอร์รัปชันทุจริตต่างๆ ล้วนมาจากการขาดสันโดษ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอใช่หรือไม่

เมื่อประเทศไทยประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 คงจำพระราชดำรัสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่คนไทยเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ว่า "การเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน ..หมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง"

ความสันโดษจึงเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา ที่จะช่วยให้ผู้คนในประเทศมีความเป็นอยู่ที่พอเพียง มีความสุข มีความพอใจ ในขณะเดียวกันก็สามารถที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้

พระพุทธศาสนาจึงถือว่า สันโดษ เป็นยิ่งกว่าทรัพย์ใดๆ ที่เราแสวงหาในทางเศรษฐกิจ ดังพุทธพจน์ที่ว่า "ความสันโดษ เป็นทรัพย์อย่างยิ่ง"

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังแปลงสินทรัพย์ต่างๆ ให้เป็นทุนนี้ จึงน่าจะได้มีการพิจารณาถึงการแปลง(สร้าง)สินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งในวัฒนธรรมคือ ความสันโดษพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี อุปนิสัยที่เรียบง่าย ความไม่ฟุ้งเฟ้อเกินฐานะให้เป็นทุนทางวัฒนธรรมที่จะมารองรับการพัฒนาประเทศและเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ

ที่มา : นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 24 พ.ค.47


ความคิดเห็นที่ 1

สิทธา นามเดิมคือสมหวัง บวชอยู่วัดวรจรรยาวาส แถวบางคอแหลม บวชเรียนจนจบโท ที่ม.มหิดล และลาสิกขามาทำงานเป็นอาจารย์ในมหาลัยสงฆ์ และม.ศรีปทุม ปัจจุบันอยู่ไหน ผมยังตามตัวอยู่เลย
หำ   [11/01/05 - 14:01] (203.152.43.221) 854