กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1154
ชื่อเรื่อง: ยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทย – กัมพูชา: กรณีศึกษา จังหวัดสระแก้ว
ชื่อเรื่องอื่นๆ: THAI - CAMBODIAN BORDER TRADING STRATEGY: SAKEAO PROVINCE CASE STUDY
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: อนพัทย์ หนองคู
คำสำคัญ: ยุทธศาสตร์
การค้าชายแดน
วันที่เผยแพร่: 2550
บทคัดย่อ: ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับการค้าตามแนวชายแดนในปัจจุบันได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย จังหวัดสระแก้วเป็นหนึ่งใน 7 จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย ด้วยอาณาเขตที่ติดต่อกันเป็นแนวยาวถึง 165 กิโลเมตร จึงทำให้ประชาชนตามแนวชายแดน มีกิจกรรมค้าขายสินค้ากันมาโดยตลอดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถือได้ว่าจังหวัดสระแก้วเป็นประตูการค้าที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งของการค้าชายแดน ซึ่งจะเห็นจากมูลค่าการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ จากการศึกษาพบว่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะตามแนวชายแดนจังหวัดสระแก้วมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องและฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคที่มีต่อการค้าตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาในเขตจังหวัดสระแก้ว พบว่าสินค้าไทยมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างมาก ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยนี้เป็นผลมาจากสินค้าสามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว ความนิยมสินค้าไทยของคนกัมพูชา ประโยชน์ที่เกิดจากการที่จังหวัดสระแก้วมีตลาดการค้าชายแดนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกัมพูชาไปยังภาคต่างๆ ตลอดจนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมการค้าของทั้งสองประเทศ นอกจากนั้นความแตกต่างในด้านความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้านการผลิตระหว่างไทยกับกัมพูชา ตลอดจนการที่ประเทศกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษ (GSP) จากประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ทั้งสองประเทศเกื้อกูลผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดตั้งฐานการผลิตแบบ Co – Production Area โดยประเทศไทยควรเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ ได้แก่ เงินทุน ผู้ประกอบการ เทคโนโลยี เพื่อตั้งฐานการผลิตในประเทศกัมพูชาที่มีความได้เปรียบในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างถูก อย่างไรก็ตามการค้าชายแดนยังมีปัญหาอุปสรรคบางประการ ได้แก่ ปัญหาด้านการค้านอกระบบ ปัญหาด้านระเบียบพิธีการด้านศุลกากร ปัญหาการปักปันเขตแดน ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ตลอดจนปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาของไทยกับกัมพูชา ซึ่งได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม และปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ผลจากการวิเคราะห์ ผู้วิจัยได้กำหนดยุทธศาสตร์การค้าชายแดนโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ยุทธศาสตร์ด้านการค้า ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้จังหวัดสระแก้วเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนที่สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา และประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการผลิต ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยอาศัยหลักความความแตกต่างในด้านความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของทรัพยากรระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายควรเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1154
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:บทความที่นำเสนอในการประชุมวิชาการ ปีการศึกษา 2550

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
อนพัทย์ หนองคู.pdf163.4 kBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น