Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1577
Title: ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย
Authors: มารยาท บุญดา
Keywords: ปัญหากฎหมาย
สินค้าไม่ปลอดภัย
Issue Date: 11-September-2552
Abstract: วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการ แนวคิด ทฤษฎี และหลักกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ทั้งของต่างประเทศและของประเทศไทย เนื่องจากพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 กำลังจะมีผลบังคับใช้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 นี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ถูกตราขึ้นภายใต้แนวคิดที่ต้องการแก้ไขปัญหาในเรื่องการให้ความคุ้มครองและให้การเยียวยาแก่ผู้เสียหายจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัยเพราะกฎหมายที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นกฎหมายลักษณะละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งมีพื้นฐานของหลักความผิดโดยกำหนดให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ความจงใจหรือประมาทเลินเล่อของจำเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะกระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้าในปัจจุบันมีความสลับซับซ้อน ทั้งข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสินค้าและกระบวนการผลิตก็อยู่ในความรู้เห็นของผู้ผลิตฝ่ายเดียว ส่วนหลักความรับผิดทางสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขาย ซึ่งได้แก่ ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องก็มุ่งคุ้มครองเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ตัวทรัพย์สินที่ซื้อขายกันเท่านั้น ไม่ได้คุ้มครองไปถึงความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินอื่นนอกจากตัวทรัพย์ที่ชำรุดบกพร่องนั้นเอง ทั้งมีผลใช้บังคับระหว่างคู่สัญญาตามสัญญาซื้อขาย คือผู้ซื้อและผู้ขายเท่านั้น ขณะที่กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคของไทย คือ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 ก็ไม่ได้กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค แม้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจะมีอำนาจดำเนินคดีแทนผู้บริโภคในทางแพ่งได้ แต่การฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายแทนผู้บริโภคก็ใช้หลักการของการดำเนินคดีละเมิดทั่วไป จึงไม่อาจให้การเยียวยาแก่ผู้เสียหายได้อย่างเป็นธรรม ส่วนกฎหมายควบคุมสินค้าบางชนิดที่มีลักษณะเป็นกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2510 ก็เป็นกฎหมายควบคุมเฉพาะสินค้าที่เป็นวัตถุอันตรายเท่านั้น ส่วนกฎหมายอาหารและกฎหมายยา ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่กำหนดเรื่องการขอใบอนุญาตสำหรับผลิตและจำหน่ายโดยไม่ได้กำหนดความรับผิดทางแพ่ง ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวนี้จึงต่างมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถให้ความคุ้มครองและเยียวยาแก่ผู้เสียหายได้เท่าที่ควร ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับการที่ประเทศไทยมีกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 เช่นเดียวกับหลายๆ ประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าวนี้บังคับใช้มานานแล้ว เพื่อเป็นการอุดช่องว่างหรือเป็นมาตรการเสริมกับกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้การเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้อย่างเป็นรูปธรรมขึ้นกฎหมายว่าด้วยความรับผิดที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ.2551 นี้ เป็นการนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้บังคับเพื่อบรรเทาภาระแก่ผู้เสียหายในการพิสูจน์ถึง “ความผิด” ของผู้ผลิตหรือผู้ขายสินค้าเพราะผู้เสียหายในคดีประเภทนี้มักเป็นฝ่ายเสียเปรียบในเรื่องการนำสืบถึงข้อเท็จจริง หรือข้อมูลทางเทคนิคที่ซับซ้อนในการผลิตสินค้าที่บุคคลทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้ กฎหมายนี้จึงกำหนดหลักการใหม่ให้ผู้ผลิตหรือผู้ขายเป็นฝ่ายนำสืบอธิบายถึงข้อมูลและข้อเท็จจริงเหล่านั้นแทนและหลักการสำคัญอีกประการของกฎหมายนี้ก็คือ การกำหนดให้บุคคลที่อยู่ในสายการผลิตจนถึงการจำหน่ายสินค้าเป็นผู้ต้องรับผิดชอบทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าผู้ผลิตอยู่ในฐานะที่จะป้องกันไม่ให้สินค้าไม่ปลอดภัยออกสู่ท้องตลาดได้ดีที่สุด ส่วนผู้ขายก็อยู่ในฐานะผู้ได้รับประโยชน์จากการขายสินค้าจึงมีสถานะทางการเงินที่พอจะรับภาระความเสี่ยงต่อความเสียหายเหล่านี้ได้ พระราชบัญญัติฉบับนี้จึงถือเป็นกลไกสำคัญและการคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้สินค้าที่ไม่ปลอดภัย และมีบทบาทในเชิงป้องกันหรือยับยั้งมิให้เกิดความเสียหายขึ้นมาอีก แต่อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่ายังมีบทบัญญัติบางประการของกฎหมายฉบับนี้ที่ยังอาจมีปัญหาในทางปฏิบัติหรืออาจเป็นอุปสรรคต่อการเยียวยาผู้เสียหาย จึงได้นำเสนอไว้เป็นแนวทางในการที่จะปรับปรุงกฎหมายนี้ต่อไปได้ดังนี้ 1. ปัญหาเกี่ยวกับ “สินค้า” ที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายนี้ ซึ่งยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร จึงควรให้รวมถึงการให้บริการต่าง ๆ ด้วยเพราะปรากฏว่ามีการให้บริการหลายประเภทอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ เช่น สวนสนุก การเสริมความงาม เป็นต้น 2. ปัญหาเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “ผู้บริโภค” และ “ความเสียหาย” ที่ยังไม่มีบทนิยามที่ชัดเจนในส่วนของคำว่า “ผู้บริโภค” ส่วน “ความเสียหาย” ที่ไม่รวมถึงความเสียหายต่อตัวสินค้าที่ไม่ปลอดภัยก็เป็นข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการซื้อขายสินค้าของสังคมไทยที่ยังมีการนำสินค้าที่ชำรุดบกพร่องมาค้ากำไรอยู่มาก 3. ปัญหาเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นความรับผิดของผู้ประกอบการในประเด็นที่ว่าผู้เสียหายได้รู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัยแล้วผู้เสียหายยังใช้สินค้านั้นอีก ทำให้ผู้ประกอบการหลุดพ้นความรับผิดไปได้ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ต้องอาศัยการตีความและปฏิบัติได้ยาก สมควรที่จะมีการแก้ไขให้ชัดเจนขึ้นกว่านี้ 4. ปัญหาเกี่ยวกับอำนาจการฟ้องคดีก็ไม่สมควรจะจำกัดอยู่เฉพาะคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองแล้วเท่านั้น แต่ควรเปิดโอกาสให้องค์กรอื่นๆ ที่มีศักยภาพ เช่น สภาทนายความ เข้ามาใช้อำนาจฟ้องคดีแทนผู้เสียหายได้โดยได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมด้วย 5. ปัญหาเกี่ยวกับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายที่กำหนดให้ไม่เกินสองเท่าของค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริง เป็นค่าเสียหายในเชิงลงโทษเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดพลาดอย่างเดิมซ้ำอีก ดังนั้น จึงควรให้มีการกำหนดค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก 6. ปัญหาเกี่ยวกับอายุความในการฟ้องคดีที่กำหนดไว้ที่ 10 ปี ก็ควรขยายออกไปอีกเพื่อให้สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เพราะมีกรณีที่อันตรายจากสินค้าบางประเภทสามารถส่งผลกระทบไปสู่ลูกหลานได้ ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 10 ปี 7. ปัญหาเกี่ยวกับที่มาของเงินค่าชดเชยความเสียหายซึ่งเสนอให้มีการจัดตั้งในรูปแบบของกองทุนขึ้น เพื่อให้การชดเชยเยียวยาความเสียหายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพขึ้น โดยอาจให้ผู้ประกอบการมีส่วนในการสมทบเงินในกองทุนนี้ได้ กฎหมายฉบับนี้แม้จะเป็นเรื่องใหม่แต่ก็นับว่าเหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคบริโภคนิยมนี้เพื่อให้ความคุ้มครองผู้บริโภคที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมาเป็นเวลานาน และจะเป็นการกระตุ้นให้ฝ่ายผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากขึ้น อันจะส่งผลให้สินค้าไทยมีมาตรฐานมีคุณภาพมากขึ้นอันจะส่งผลดีต่อประเทศโดยรวมต่อไป
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1577
Appears in Collections:S_CHO-11. การค้นคว้าอิสระ/สารนิพนธ์

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
1title.pdf29.33 kBAdobe PDFView/Open
2abstract.pdf70.07 kBAdobe PDFView/Open
3acknow.pdf31.41 kBAdobe PDFView/Open
4content.pdf46.87 kBAdobe PDFView/Open
5chap1.pdf63.61 kBAdobe PDFView/Open
6chap2.pdf338.89 kBAdobe PDFView/Open
7chap3.pdf314.09 kBAdobe PDFView/Open
8chap4.pdf166.51 kBAdobe PDFView/Open
9chap5.pdf79.94 kBAdobe PDFView/Open
10bib.pdf66.73 kBAdobe PDFView/Open
11profile.pdf30.07 kBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.