Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1708
Title: ปัญหากฎหมายและอุปสรรคเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ
Authors: วาริช ราชพิทักษ์
Keywords: การประกอบธุรกิจ
โรงเรียนนานาชาติ
กฎหมายธุรกิจ
Issue Date: 16-May-2553
Abstract: การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหากฎหมายและอุปสรรคเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ ที่มีผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับการศึกษาได้แก่พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 และกฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดถึงกฎหมายอื่น เพื่อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จากการศึกษาพบว่า การบังคับใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมกำกับดูแลโรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนเอกชนโดยทั่วไป กฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตลอดถึงแนวนโยบายต่างๆ เป็นมาตรการที่ควบคุมมากกว่าการส่งเสริมสนับสนุน มีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อนไม่เหมาะสมกับสภาพทางด้านเศรษฐกิจ การแข่งขันโดยเสรีทางการศึกษา และการให้ความอิสระด้านการดำเนินกิจการการจัดการศึกษาของเอกชน ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดให้โรงเรียนที่ได้รับอนุญาตจัดตั้งต้องเป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 24 และเมื่อเป็นนิติบุคคลแล้วยังกำหนดบังคับให้เจ้าของ หรือผู้ขอรับใบอนุญาต ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินต่างๆ ให้กับโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล ปัญหาการกำหนดให้คณะกรรมการบริหารโรงเรียนทำหน้าที่ในการบริหารกิจการของโรงเรียนแทนเจ้าของหรือผู้ขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 30 ทำให้เจ้าของไม่สามารถบริหารกิจการที่ลงทุนเองได้โดยสะดวก ปัญหาเกี่ยวกับการจัดสรรผลกำไรให้กับเจ้าของหรือผู้ขอรับใบอนุญาต ตามมาตรา 45 ที่ไม่เป็นธรรม ไม่คุ้มกับการลงทุน ปัญหาความไม่ชัดเจนของกฎหมายเกี่ยวกับการใช้อาคาร สถานที่และบริเวณโรงเรียนตามมาตรา 87 ในกรณีที่ไม่เป็นไปเพื่อกิจการของโรงเรียน ปัญหาเกี่ยวกับหลักสูตรการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทยตามมาตรา 43 ที่ไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการเรียนรู้ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานและการรับรองคุณภาพการศึกษา ที่ยังไม่มีการกำหนดบทลงโทษหากโรงเรียนไม่สามารถจัดการศึกษาให้ได้มาตรฐานและผ่านการรับรองคุณภาพการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด ปัญหาเกี่ยวกับครูซึ่งเป็นคนต่างด้าวที่ยังไม่มีการกำหนดให้ต้องมีการตรวจสอบคุณสมบัติ คุณวุฒิการศึกษา ประวัติอาชญากร สภาพพื้นฐานทางจิตและสถานะทางการเงิน ก่อนรับเข้าเป็นครู ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดอัตราส่วนระหว่างนักเรียนไทยกับนักเรียนคนต่างด้าวที่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงและยังไม่มีการกำหนดให้ตรวจสอบประวัตินักเรียนคนต่างด้าวก่อนรับเข้าเรียน ปัญหาเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการศึกษา ที่มีการกำหนดค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าธรรมเนียมอื่นในอัตราที่สูงและเป็นการเก็บแบบลอยตัว ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการของบุคลากรทางการศึกษา และเจ้าหน้าที่อื่นในโรงเรียนที่ไม่สามารถเข้าเป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคมได้ตามมาตรา 86 ทำให้เสียสิทธิและไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ ปัญหาเกี่ยวกับการเลิกกิจการ ที่กำหนดให้ผู้อนุญาตให้การช่วยเหลือเฉพาะนักเรียนตามมาตรา 116 และไม่มีการกำหนดให้โรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลเมื่อจะเลิกกิจการต้องได้รับความยินยอมจากนิติบุคคลนั้นก่อน ปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีอากรทั้งภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินและภาษีเกี่ยวกับการโอนทรัพย์สิน เมื่อต้องโอนให้กับโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคล ตามมาตรา 27 นอกจากปัญหาที่เกิดจากบทบัญญัติของกฎหมายแล้วยังพบอุปสรรคที่เกิดจากนโยบายและหน่วยงานของรัฐในการควบคุม กำกับดูแล การศึกษาวิจัยนี้จึงได้เสนอแนะเห็นควรปรับปรุง แก้ไขข้อบกพร่องของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กฎ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่มีบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ไม่ชัดเจน คลุมเครือเพื่อปิดช่องว่างทางกฎหมาย โดยเสนอแนะแก้ไขมาตรา 24 ไม่ควรกำหนดให้โรงเรียนนานาชาติเป็นนิติบุคคลขึ้นอีกเพราะเกิดความซ้ำซ้อนและควรยกเลิก มาตรา 25 ทั้งหมดเพื่อไม่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง สิทธิเหนือพื้นดินและสิทธิต่างๆ รวมถึงทรัพย์สินให้กับโรงเรียน ปัญหาการบริหารและการดำเนินกิจการควรแก้ไข มาตรา 30 เพื่อให้อำนาจการบริหารจัดการเป็นของเจ้าของหรือผู้ขอรับใบอนุญาต เสนอแนะควรแก้ไข มาตรา 45 (3) เพื่อเพิ่มการจัดสรรผลกำไรให้เจ้าของหรือผู้ขอรับใบอนุญาต เป็นร้อยละเจ็ดสิบ ควรกำหนดให้ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นการอันไม่ควรแก่กิจการของโรงเรียนและควรมีการทบทวนแก้ไขระเบียบที่กำหนดมาตรฐานขนาดของห้องเรียน ลักษณะอาคาร สถานที่ ที่เข้มงวดแตกต่างจากการจัดการศึกษาของรัฐ แก้ไขมาตรา 43 เพื่อกำหนดมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาและวัฒนธรรมไทย ควรกำหนดให้โรงเรียนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาแล้วมีการประกาศโดยเปิดเผยในโรงเรียนและกรณีที่โรงเรียนใดจัดการศึกษาไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานและคุณภาพการศึกษาต้องมีการกำหนดบทลงโทษ ปัญหาเกี่ยวกับกรณีครูซึ่งเป็นคนต่างด้าวควรกำหนดให้มีการตรวจสอบคุณวุฒิ ประวัติอาชญากร สภาพพื้นฐานทางจิต สถานะทางการเงินก่อนบรรจุเข้าเป็นครู ปัญหาเกี่ยวกับนักเรียนควรกำหนดอัตราส่วนระหว่างนักเรียนไทยกับนักเรียนคนต่างด้าวตามสภาพความเป็นจริงโดยกำหนดอัตราส่วน 60 ต่อ 40 และให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติของนักเรียนคนต่างด้าวเช่นเดียวกับครูที่เป็นคนต่างด้าวก่อนรับเข้าเรียน ปัญหาเกี่ยวกับการเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษา ควรให้โรงเรียนนานาชาติเก็บค่าธรรมเนียมการศึกษาแบบลอยตัวโดยตัดข้อความในมาตรา 32 วรรคสอง ออกทั้งหมด ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการของบุคลากรทางการศึกษาควรแก้ไข มาตรา 86 โดยตัดคำว่า “กฎหมายเกี่ยวกับการประกันสังคม” ออกเพื่อให้ได้รับสิทธิและสวัสดิการต่างๆ และควรแก้ไข มาตรา 116 เพื่อให้ผู้อนุญาตสามารถช่วยเหลือบุคลากรฝ่ายอื่นนอกจากนักเรียนได้เมื่อโรงเรียนเลิก กิจการและต้องกำหนดให้การเลิกกิจการต้องได้รับอนุญาตจากนิติบุคคลนั้นก่อน ปัญหาเกี่ยวกับการเสียภาษีอากร ต้องมีการแก้ไขมาตรา 46 โดยตัดคำว่า “ลดหย่อนหรือ” ออก ทั้งนี้เพื่อให้การประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่ดำเนินกิจการโดยเอกชนได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากรัฐ สามารถบริหารจัดการโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพ มาตรฐานและคุณภาพทางการศึกษา ช่วยแบ่งเบาภาระในการจัดการศึกษาของภาครัฐและเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภูมิภาค ตามนโยบายที่รัฐบาลได้กำหนดไว้
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1708
Appears in Collections:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
2abstract.pdf88.74 kBAdobe PDFView/Open
1title.pdf41.98 kBAdobe PDFView/Open
3acknow.pdf44.41 kBAdobe PDFView/Open
4content.pdf62.37 kBAdobe PDFView/Open
5chap1.pdf130.1 kBAdobe PDFView/Open
6chap2.pdf143.53 kBAdobe PDFView/Open
7chap3.pdf385.05 kBAdobe PDFView/Open
8chap4.pdf277.49 kBAdobe PDFView/Open
9chap5.pdf113.28 kBAdobe PDFView/Open
10bib.pdf97.02 kBAdobe PDFView/Open
11profile.pdf44.73 kBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.