กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/2593
ชื่อเรื่อง: มาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับบทบาทของพนักงานสอบสวนต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: เรวัต ทองประกอบ
คำสำคัญ: พนักงานสอบสวน
การไกล่เลี่ย
การระงับข้อพิพาท
คดีอาญา
วันที่เผยแพร่: 26-สิงหาคม-2554
บทคัดย่อ: จากสภาพปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา (criminal justice process) ของประเทศไทย เกิดจากปริมาณคดีที่เกิดขึ้นมีจำนวนมากและขาดมาตรการในการกันคดี ซึ่งก่อให้เกิดสภาพปัญหาความแออัดในเรือนจำ โดยปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวมิใช่ปัญหาของระบบราชทัณฑ์ แต่เป็นปัญหาในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันแก้ไขเพื่อหาแนวทางกำหนดรูปแบบและมาตรการไม่ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นอัยการและศาล เพราะในปัจจุบันทฤษฎีการลงโทษผู้กระทำผิด มิใช่แต่เพียงการลงโทษเพื่อการแก้แค้นและจะเกิดผลดีเสมอไป โดยเฉพาะเพื่อเป็นการลดปริมาณคดีเล็กๆ น้อยๆ หรือคดีที่ผู้กระทำผิดไม่สมควรรับโทษจำคุก เพราะจะส่งผลกระทบต่อสถานะทางสังคม ทำให้เกิดรอยมลทิน (stigma) เสมือนเป็นตราบาปทางสังคม จึงเห็นได้ว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยนำแนวคิดหลักของความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ ความยุติธรรมเชิงฟื้นฟู (restorative justice) มาเป็นหนึ่งในหลักการที่สำคัญต่อการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางอาญาด้วย ดังนั้น พนักงานสอบสวนในฐานะเจ้าพนักงานของรัฐในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเมื่อคดีอาญาเกิดขึ้น และมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด เห็นควรมีบทบาทในการหารูปแบบและไกล่เกลี่ยให้ยุติได้ในชั้นพนักงานสอบสวน เพื่อช่วยลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาลและผู้ต้องขังล้นเรือนจำ จากการศึกษาร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ..... เพื่อนำมาปรับใช้เป็นบทบาทพนักงานสอบสวนของไทย จากผลการศึกษาพนักงานสอบสวนมีบทบาทสำคัญ เนื่องจากสามารถยุติข้อพิพาททางอาญาในชั้นสอบสวน โดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล โดยเป็นคนกลางหรือคณะกรรมการเข้ามาเป็นผู้ทำการไกล่เกลี่ย โดยมีผลดีมากกว่าผลเสีย คือ ลดการนำคดีขึ้นสู่ศาล ประหยัดเวลา และงบประมาณภาครัฐ ทำให้เหยื่อได้รับโอกาสในการเยียวยาโดยเร็วและหากสามารถตกลงกันได้ในชั้นสอบสวน ก็เป็นผลดีต่อตัวผู้กระทำผิดที่ไม่ต้องมีประวัติการต้องหาคดีอาญาติดตัว ทำให้ทุกฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ควรมีผู้ที่มาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยแต่งตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ แยกจากพนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติ เพราะพนักงานสอบสวนมีอำนาจในการสอบสวนพยานหลักฐาน รวมถึงการใช้มาตรการบังคับ การจับ ควบคุม และปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา ยังขาดมาตรการในการควบคุมโดยองค์กรภายนอกที่มีประสิทธิภาพ อันทำให้พนักงานสอบสวนใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และการที่พนักงานสอบสวนเป็นข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนที่อยู่ใต้การบังคับบัญชาของฝ่ายการเมืองโดยตรงและไม่มีกฎหมายที่จะประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ พนักงานสอบสวนจึงมักประสบปัญหาการถูกแทรกแซงในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลต่อความรู้สึกและศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะต่อการสอบสวน และค่าตอบแทนในการปฏิบัติหน้าที่อันไม่เหมาะสมกับหน้าที่ความรับผิดชอบ ทำให้เกิดปัญหาการแสวงหาช่องทาง หาผลประโยชน์จากประชาชน หรือผู้เกี่ยวข้องในคดีโดยทุจริต เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณี ปัญหาและอุปสรรคของร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ.... ยังพบว่าการไกล่เกลี่ยในรูปของคณะกรรมการมีคณะกรรมการมากเกินไป อาจมีปัญหาและอุปสรรค คือ เกิดความยุ่งยากในการประสานงานให้คณะกรรมการเข้าร่วมพิจารณาไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับพนักงานสอบสวนมากยิ่งขึ้น ปัญหาภาพลักษณ์ของตำรวจกับความไม่เชื่อถือของประชาชน จะทำให้ขาดความเชื่อมั่นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยอย่างเป็นกลางได้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย และปัญหาจากสังคมที่อาจไม่ยอมรับว่าผู้กระทำผิดจะปฏิบัติตามเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ยได้จริง นอกจากนั้นยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับประเภทคดีที่สามารถไกล่เกลี่ยได้ และปัญหาด้านงบประมาณในการติดตาม สอดส่องดูแล เพื่อให้ผู้กระทำผิดปฎิบัติตามเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ย โดยสรุป จากการที่พนักงานสอบสวนเป็นเจ้าหน้าที่รัฐคอยอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนตามร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวนกำหนดแนวทางสมานฉันท์ระหว่างผู้ต้องหาและผู้เสียหาย ลดระยะเวลาในการดำเนินคดี ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล เนื่องจากแนวทางสมานฉันท์อันเป็นแนวทางของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative justice) เมื่อมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทจะทำให้ระยะเวลาในการดำเนินคดีสั้นลง โดยตัดขั้นตอนการพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนโดยพนักงานอัยการและการพิจารณาพิพากษาในศาลลง แต่การจัดตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมีจำนวนมาก ทำให้สิ้นเปลืองกำลังคน งบประมาณของรัฐ เป็นการสร้างภาระงาน แสวงหาประโยชน์ เป็นต้น
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/2593
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
1title.pdf.pdf45.32 kBAdobe PDFดู/เปิด
2abstract.pdf78.25 kBAdobe PDFดู/เปิด
3acknow.pdf45.98 kBAdobe PDFดู/เปิด
4content.pdf71.34 kBAdobe PDFดู/เปิด
5chap1.pdf85.31 kBAdobe PDFดู/เปิด
6chap2.pdf369.11 kBAdobe PDFดู/เปิด
7chap3.pdf162.71 kBAdobe PDFดู/เปิด
8chap4.pdf117.85 kBAdobe PDFดู/เปิด
9chap5.pdf75.01 kBAdobe PDFดู/เปิด
10bib.pdf114.45 kBAdobe PDFดู/เปิด
11appen1.pdf117.42 kBAdobe PDFดู/เปิด
12profile.pdf43.71 kBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น