Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/3184
Title: การศึกษาสถานภาพองค์ความรู้เรื่อง“สตรีกับสื่อมวลชนในประเทศไทย” พ.ศ. 2536 - 2552
Other Titles: : Woman and Media in Thailand : The state of knowledge [1993-2009]
Authors: เอกธิดา เสริมทอง
Keywords: สถานภาพองค์ความรู้
สตรี
สื่อมวลชน
ประเทศไทย
Issue Date: December-2554
Publisher: ปีการศึกษา 2553 มหาวิทยาลัยศรีปทุม
Abstract: การศึกษาเรื่อง “สถานภาพองค์ความรู้เรื่องสตรีกับสื่อมวลชนในประเทศไทยพ.ศ. 2536 – 2552” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจสถานภาพองค์ความรู้เรื่องสตรีกับสื่อมวลชนในประเทศไทยตามทฤษฎีองค์ประกอบของการสื่อสารของ David K. Berlo และเพื่อเปรียบเทียบงานศึกษาสถานภาพองค์ความรู้เรื่องสตรีกับสื่อมวลชนในประเทศไทยในยุคแรก(พ.ศ. 2520-2535) เพื่อให้เห็นทิศทางการศึกษาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ในการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยกำหนดขอบเขตด้านระยะเวลาในการรวบรวมผลงานศึกษาที่เป็นวิทยานิพนธ์ และงานวิจัยของนิสิต นักศึกษา อาจารย์ หรือนักวิจัยทั่วไป ทั้งจากสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และองค์กร ที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ในระหว่างพ.ศ. 2536 – 2552 และในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้วิจัยใช้บทบาทในทุกมิติของสตรีที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน ทั้งในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพด้านสื่อมวลชน เนื้อหาสารที่เกี่ยวข้องกับสตรี ช่องทางการสื่อสารที่เกี่ยวข้องกับสตรี และสตรีในฐานะผู้รับสาร ตามทฤษฎีองค์ประกอบของการสื่อสารของ David K. Berlo ผลการวิจัยพบว่า 1. งานศึกษาสตรีกับสื่อมวลชนในประเทศไทยช่วงปีพ.ศ.2536-2552 รวมระยะเวลา 16 ปี มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสตรีกับสื่อมวลชนจำนวนทั้งสิ้น 330 งานศึกษา ค่าเฉลี่ยประมาณ 20 เรื่องต่อปี โดยปริมาณงานที่ต่ำสุดคือ 6 เรื่องต่อปี และปริมาณที่มากสุดคือ 32 เรื่องต่อปี โดยประเด็นการศึกษาเนื้อหาสารที่สตรีมีส่วนเกี่ยวข้อง (Message Study) ได้รับความสนใจศึกษามากที่สุด และการศึกษาสตรีในฐานะผู้ส่งสาร (Sender Study) ได้รับความสนใจศึกษาน้อยที่สุด 2. แหล่งที่ทำการศึกษาพบว่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่มีงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรีกับสื่อมวลชนเป็นจำนวนมากที่สุด และรองลงมาเป็นมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3. ในการศึกษาสตรีในฐานะผู้ส่งสารหรือผู้ผลิตสาร พบว่าประเด็นการศึกษาชีวิตการทำงานด้านสื่อมวลชนของสตรีได้รับความสนใจศึกษามากที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นใหม่ที่เพิ่งพบในการศึกษาในยุคที่สอง (ช่วงพ.ศ. 2536-2552) แสดงให้เห็นว่าสตรีสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรสื่อมวลชน นอกจากนี้ยังพบว่าความเป็นเพศหญิงของสตรีผู้ผลิตงานไม่ได้ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการตั้งคำถามงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสตรีในทุกเรื่องเสมอไป 4. ในการศึกษาเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องกับสตรี พบว่าเนื้อหาการศึกษาแบ่งเป็น 9 ประเภทได้แก่ด้านบทบาทและสถานภาพ ด้านเพศ (Gender) ด้านสาธารณสุข ด้านจริยธรรม ธรรมเนียมปฏิบัติของสตรี ด้านภาษา ด้านการพัฒนา ด้านการเมือง ด้านองค์กรธุรกิจ และเนื้อหาด้านอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับสตรี ได้แก่สื่อกับแนวคิดสตรีนิยม สื่อกับโสเภณี และการค้า-มนุษย์ สื่อกับสิทธิสตรี และสื่อกับการประกอบสร้างความหมาย โดยเนื้อหาด้านบทบาทและสถานภาพของสตรีได้รับความสนใจศึกษามากที่สุด ในขณะที่เนื้อหาด้านองค์กรธุรกิจได้รับความสนใจน้อยที่สุด แสดงให้เห็นว่าภาพรวมการศึกษาสตรีกับเนื้อหาสารขยายขอบเขตการศึกษาหลากหลายมากขึ้น และมีความเฉพาะในความเป็นเพศหญิงมากยิ่งขึ้นกว่าในการศึกษายุคแรก 5. ในการศึกษาตัวสื่อที่เกี่ยวข้องกับสตรี พบว่าสื่อสิ่งพิมพ์ได้รับความสนใจมากกว่าสื่ออิเล็คทรอนิคกว่า 2 เท่าตัว โดยสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทนิตยสารได้รับความสนใจศึกษามากที่สุด ในขณะที่สื่อภาพยนตร์ได้รับความสนใจศึกษาน้อยที่สุด นอกจากนี้พบปรากฎการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นแตกต่างจากการศึกษาในยุคแรกคือ การเกิดปรากฎการณ์ความสนใจในสื่อใหม่ (New Media) เช่นสื่อเว็บไซต์ ที่ได้รับความสนใจมากเป็นอันดับสี่จากเจ็ดอันดับ ผลการศึกษาพบว่าสื่อใหม่ไม่เพียงเป็นสื่อที่มีเทคโนโลยีความรวดเร็ว แต่ยังพ่วงสัญญะความทันสมัย หรูหรา และเพิ่มรสนิยม ให้กับผู้ใช้สื่อด้วย 6. ในการศึกษาผู้รับสารสตรี พบว่ามิติการศึกษาแบ่งได้เป็น 7 กลุ่มได้แก่กลุ่มการศึกษาการใช้ประโยชน์ การรับรู้ การซื้อ การเปิดรับสื่อ การศึกษาความพึงพอใจ การศึกษาความต้องการสื่อ และการศึกษาทัศนคติ พบว่าการศึกษาในยุคที่สองมีการวิเคราะห์ผู้รับสารเจาะจงถึงลักษณะพิเศษของความเป็นสตรี (Femininity) เช่นบทบาทมารดา ความเป็นแม่บ้าน ผู้หญิงอาชีพพิเศษ รวมถึงพบงานศึกษาที่เกี่ยวข้องกับสตรีเป็นการเฉพาะเช่น สุขอนามัยของสตรีหลังคลอด พฤติกรรมการใช้ผ้าอนามัย การตรวจมะเร็งเต้านม สิทธิทางเพศของสตรี เว็บไซต์กลุ่มหญิงรักหญิง นอกจากนี้ยังพบว่านักวิจัยในการศึกษายุคที่สองใช้กรอบแนวคิดสตรีศึกษา (Gender Study) และทฤษฎีเฟมินิสต์มาร่วมในการวิเคราะห์ด้วย
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/3184
Appears in Collections:รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
53 เอกธิดา.pdf4.33 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.