Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/3581
Title: สินค้าที่บกพร่องตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551
Other Titles: DEFECTIVE PRODUCTS UNDER THE ACT ON LIABILITY FOR INJURY CAUSED BY DEFECTIVE PRODUCTS, B.E. 2551 (2008)
Authors: ศิริลักษณ์ ณ กาฬสินธุ์
Keywords: สินค้าที่บกพร่อง
Issue Date: 2555
Citation: ศิริลักษณ์ ณ กาฬสินธุ์. 2553. "สินค้าที่บกพร่องตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551." สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
Abstract: พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551บัญญัติขึ้นโดยนำหลักความรับผิดโดยเคร่งครัดมาใช้ อันมีผลให้ผู้เสียหายไม่ต้องพิสูจน์ถึงความไม่ปลอดภัยของสินค้า ตลอดจนได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นธรรมโดยในพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “สินค้าที่ไม่ปลอดภัย”ไว้ในมาตรา 4 ว่า หมายถึง สินค้าที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุจากความบกพร่องในการผลิตหรือการออกแบบ หรือไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน หรือข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือกำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจนตามสมควร ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงสภาพของสินค้า รวมทั้งลักษณะการใช้งานและการเก็บรักษาตามปกติธรรมดาของสินค้าอันพึงคาดหมายได้ อันเป็นเพียงหลักเกณฑ์กว้างๆ ที่ใช้ในการพิจารณาว่าเหตุการณ์เช่นไรถือว่าเป็นความบกพร่องของสินค้าแต่มิได้บัญญัติรายละเอียดหรือขอบเขตของความบกพร่องว่าในกรณีใดถือว่าเป็นความบกพร่องโดยให้ผู้ประกอบการมีภาระการพิสูจน์ว่า ไม่ได้มีความบกพร่องในการผลิต ออกแบบ หรือการเตือน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของศาลในการพิจารณาถึงความหมายและขอบเขตของความบกพร่องดังกล่าว แต่เนื่องจากพระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2552 จึงยังไม่มีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกาในเรื่องดังกล่าว สารนิพนธ์ฉบับนี้จึงมุ่งศึกษาถึงความหมายและขอบเขตของความบกพร่องในการผลิต การออกแบบ และการเตือน เพื่อเป็นแนวทางในการกำหนดความหมายและขอบเขตในการพิจารณาถึงความบกพร่องดังกล่าว โดยศึกษาวิจัยจากหนังสือ เอกสาร คำอธิบายกฎหมาย บทความและคำพิพากษาของศาล ผลจากการศึกษาวิเคราะห์จึงขอเสนอแนะแนวทางในการพิจารณาขอบเขตของความบกพร่องประเภทต่าง ๆ ดังนี้ 1. ความบกพร่องในการผลิตจะต้องพิจารณาถึงสภาพของสินค้าเป็นหลักว่า สินค้านั้นมีความปลอดภัยต่อการใช้งานตามปกติวิสัยที่วิญญูชนทั่วไปคาดหวังในขณะที่มีการผลิตและวางจำหน่ายสินค้าหรือไม่ อันเป็นหลักของความคาดหวังของผู้บริโภคโดยทั่วไป (Consumer Expectation Test) ที่คาดหวังว่า สินค้าจะมีความปลอดภัยในการใช้โดยปกติทั่วไปตามลักษณะของสินค้า รวมทั้งการใช้ที่ผิดปกติ (Misuse) ที่คาดหมายได้ ดังนั้นหากสินค้าเกิดความบกพร่องและก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค รวมทั้งบุคคลอื่นที่ไม่ได้เป็นผู้ใช้แต่บังเอิญผ่านมาหรือที่เรียกว่า “ผู้ที่ยืนอยู่ข้างเคียง” (Bystander) ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน แล้ว ผู้ผลิตจะต้องรับผิดในความเสียหายต่อบุคคลดังกล่าวแม้ว่าจะไม่มีนิติสัมพันธ์กัน โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ผลิตจะจงใจหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ตามหลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) เว้นแต่จะมีการกระทำของผู้ใช้เองหรือบุคคลที่สามที่เป็นเหตุที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง (Proximate Cause) ในการก่อให้เกิดความเสียหายตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล (Causation) เช่น มีการดัดแปลงสินค้าในสาระสำคัญ ทำให้สภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามการออกแบบดั้งเดิมของผู้ผลิต 2. ความบกพร่องในการออกแบบนั้นจะต้องใช้หลักความเสี่ยงต่อผลประโยชน์ที่ได้รับ (Risk - Utility Test)มาประกอบการพิจารณา กล่าวคือ จะต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงต่ออันตรายอันเกิดจากการออกแบบสินค้ากับประโยชน์ที่ได้จากการออกแบบสินค้าในการใช้สอยสินค้าว่าอย่างใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน หากการออกแบบทำให้สินค้ามีความเสี่ยงต่อการขาดความปลอดภัยต่อผู้ใช้หรือผู้บริโภคหรือบุคคลอื่น แต่ความเสี่ยงดังกล่าวเป็นความเสี่ยงที่มีเหตุผล (Reasonable Risk) ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่บุคคลธรรมดาทั่วไปคาดหมายได้ และความเสี่ยงดังกล่าวมีน้ำหนักน้อยกว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการใช้สินค้านั้น ก็ถือว่าสินค้าไม่มีความบกพร่องในการออกแบบ แต่หากสินค้ามีความเสี่ยงที่ไม่มีเหตุผล(Unreasonable Risk) ซึ่งก็คือความเสี่ยงที่บุคคลธรรมดาที่มีความรู้สามัญทั่วไปสามารถคาดหมายได้ และความเสี่ยงดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงหรือลดลงได้โดยการออกแบบทางเลือกอื่นแล้วย่อมถือว่าสินค้านั้นมีความบกพร่องในการออกแบบ 3. ความบกพร่องในการให้คำเตือน ต้องพิจารณาจากลักษณะของคำเตือนและผู้ที่มีหน้าที่ที่จะต้องเตือนโดยคำเตือนจะต้องใช้ภาษาที่ตรงไปตรงมา สามารถเข้าใจได้โดยบุคคลทั่ว ๆ ไป อธิบายถึงวิธีการใช้สินค้าที่ถูกต้องและปลอดภัย รวมทั้งต้องแสดงให้เห็นถึงธรรมชาติและขอบเขตของอันตรายของสินค้าที่คาดหมายได้ทั้งจากการใช้สินค้าตามความมุ่งหมายโดยปกติ และการใช้ผิดวิธีที่คาดหมายได้ วิธีการแก้ไข รวมทั้งต้องมีความชัดเจน และสังเกตเห็นได้โดยง่าย ดังนั้น ที่ตั้ง ขนาด ภาษา และสัญลักษณ์จะต้องนำมาคำนึงประกอบในการวินิจฉัยว่าคำเตือนนั้นเพียงพอหรือไม่ด้วย
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/3581
Appears in Collections:GRA-11. การค้นคว้าอิสระ/สารนิพนธ์

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
บทคัดย่อ.pdf114.05 kBAdobe PDFView/Open
cover.pdf41.65 kBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.

Admin Tools