กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/4534
ชื่อเรื่อง: บทบาทการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา=ADVISORY ROLE IN LEGISLATION OF THE SECRETARIAT OF THE SENATE
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: มานะ ชัยวงศ์โรจน์
คำสำคัญ: การเสนอแนะ
นิติบัญญัติ
วุฒิสภา
วันที่เผยแพร่: 7-มกราคม-2558
แหล่งอ้างอิง: มานะ ชัยวงศ์โรจน์. 2558. "บทบาทการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา." วิทยานิพนธ์ ปรัชญาดุษฎบีัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการวิทยาคารพญาไท.
บทคัดย่อ: การศึกษาบทบาทการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา มีวัตถุประสงค์สามประการคือ 1. เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการแสดงบทบาทการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติของสำนักงานฯ แก่วุฒิสภา 2. เพื่อศึกษาปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในการแสดงบทบาทการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติของสำนักงานฯ แก่วุฒิสภา และ 3. เพื่อเสนอแนะแนวทางในการพัฒนาองค์การแก่สำนักงานฯ ในอนาคต การวิจัยนี้ใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสนทนากลุ่ม และการสัมมนา รวมทั้งการศึกษาเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า สำนักงานฯ มีความเป็นองค์การเชิงระบบปิด โดยที่ผู้บริหารซึ่งมีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานให้ความสำคัญต่อวุฒิสภา และได้กำหนดระบบงานและโครงสร้างองค์การเพื่อทำให้การบริการมีความสอดคล้องกับความต้องการของวุฒิสภา ส่งผลให้สมาชิกวุฒิสภามีความพึงพอใจต่อการประชุมและการเป็นเลขานุการ ซึ่งถือเป็นบริการขั้นพื้นฐาน แต่เมื่อสมาชิกวุฒิสภามีความคาดหวังต่อสำนักงานฯ ในการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติเพื่อสนับสนุนการพิจารณาร่างกฎหมายต่างๆ ของวุฒิสภา การวิเคราะห์สภาพของสำนักงานฯ ตามกรอบการวิเคราะห์ได้แสดงให้เห็นว่า แท้จริงแล้ว สภาพแวดล้อมการดำเนินงานมุ่งให้สำนักงานฯ มีรูปแบบเป็นองค์การเชิงระบบเปิด อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเชิงองค์การอันได้แก่ ตรรกะเชิงองค์การ โดยรวม โครงสร้างองค์การ บุคลากร การแสดงบทบาทของผู้บริหาร และการบริหารจัดการ มีความจำกัดในหลายด้าน สภาพเช่นนี้ส่งผลให้สำนักงานฯ ขาดความสามารถหลักด้านการจัดการความรู้และการพัฒนารูปแบบบริการใหม่ ตลอดจนความจำกัดในการบริหารการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านการปรับเปลี่ยนแนวคิดของผู้บริหารและบุคลากร รวมทั้งการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานภายใน ดังนั้น ความคาดหวังของวุฒิสภาต่อบทบาทดังกล่าวของสำนักงานฯ จึงมีอุปสรรคหลายประการ การวิจัยตามกรอบการวิเคราะห์ได้ค้นพบประเด็นการบริหารจัดการซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและการวิจัยต่อไปในอนาคต ได้แก่ 1. บริบทของสถานการณ์เชิงนิติบัญญัติ 2. การสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการอย่างบูรณาการ 3. ความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4. จุดมุ่งหมายขององค์การ 5. โครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาความสามารถหลัก 6. ขีดความสามารถด้านองค์ความรู้ของบุคลากรและผู้บริหาร และ 7. กลไกการสร้างคุณค่าแก่ผู้รับบริการ โดยข้อเสนอแนะนั้นได้แสดงรายละเอียดที่เป็นไปตามตัวแปรเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วยข้อเสนอแนะด้านการเปลี่ยนแปลงองค์การไปสู่สภาพที่ควรจะเป็นในอนาคต และข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาองค์การซึ่งแสดงแนวทางการปรับปรุงสิ่งต่างๆ ภายในสำนักงานฯ เพื่อจะสามารถปรับสภาพตนเองเป็นองค์การเชิงระบบเปิดมากขึ้นในการเป็นองค์การที่มีความสามารถหลักด้านการจัดการความรู้ จากนั้น ผู้วิจัยได้นำข้อเสนอแนะตามตัวแปรทั้งหมดมาบูรณาการ โดยได้ทำการสรุปข้อเสนอแนะทั้งหมดระเบียบวิธี ซึ่งจัดแบ่งเป็นแนวทางด้านกลยุทธ์ ด้านกระบวนการทรัพยากรบุคคล ด้านเทคโนโลยีและโครงสร้าง รวมทั้งด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อแสดงการพัฒนาองค์การอย่างเป็นกระบวนการ และให้เกิดความชัดเจนในภาคปฏิบัติ นอกจากนั้น ผู้วิจัยยังได้แสดงวิธีการตรวจสอบความเชื่อถือ ตลอดจนการยืนยันผลการวิจัยซี่งใช้วิธีการแบบสามเส้า โดยการเทียบเคียงข้อเสนอแนะตามข้อค้นพบทั้ง 7 กับข้อมูลการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการสภาที่ปรึกษาหรือวุฒิสภาของประเทศต่างๆ ที่มีรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่ประกอบด้วยสภาคู่ มีกษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร รวมทั้งมีข้อมูลด้านการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการฯ ที่เพียงพอแก่การศึกษาเปรียบเทียบ โดยคัดเลือกจากประเทศในกลุ่ม OECD (The Organization for Economic Co-operation and Development) ทำให้ได้ประเทศคู่เทียบเป้าหมายได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น อังกฤษ และออสเตรเลีย การศึกษาเปรียบเทียบนี้ช่วยให้ข้อสรุปที่ยืนยันว่า ข้อเสนอแนะข้างต้นมีความสอดคล้องกับแนวทางของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาหรือสภาที่ปรึกษาในประเทศดังกล่าว ซึ่งเพิ่มความเชื่อมั่น รวมทั้งโอกาสของความเป็นไปได้ในการที่สำนักงานฯ จะสามารถแสดงบทบาทการเสนอแนะด้านนิติบัญญัติและการนำข้อเสนอแนะการพัฒนาองค์การเพื่อสนับสนุนบทบาทดังกล่าวไปปฏิบัติในอนาคต
รายละเอียด: มหาวิทยาลัยศรีปทุม
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/4534
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:S_PAY-10. วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก



รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น