กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/5865
ชื่อเรื่อง: ปัญหาการเพิ่มโทษในการกระทำความผิดซ้ำของผู้เสพ/ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
ชื่อเรื่องอื่นๆ: PROBLEM OF PUNISHMENT INCREASE FOR DRUG OFFENCE RECIDIVISM ACCORDING TO NARCOTICS ACT B.E. 2522
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: วีระชาติ โสพันธ์
คำสำคัญ: การกระทำผิดซ้ำของผู้ติดยาเสพติด
ยาเสพติด
การแก้ไขปัญหายาเสพติด
ทฤษฏีการบังคับใช้กฎหมายอาญา
ทฤษฎีวัตถุประสงค์ของการลงโทษ
วันที่เผยแพร่: 2560
สำนักพิมพ์: มหาวิทยาลัยศรีปทุม
แหล่งอ้างอิง: วีระชาติ โสพันธ์. 2560. "ปัญหาการเพิ่มโทษในการกระทำความผิดซ้ำของผู้เสพ/ติดยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522." สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
หมายเลขชุด/รายงาน: SPU_วีระชาติ โสพันธ์_T182465
บทคัดย่อ: เนื่องจากปัญหายาเสพติดถือเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกประเทศตระหนักในการแก้ไข ตลอดจนจะเห็นได้ว่าโลกยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจึงส่งผลให้ “ปัญหายาเสพติด” ทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาคมโลกทั้งในด้านต่างๆ มากมายนอกจากนี้ปัญหายาเสพติดยังบั่นทอนสุขภาพของผู้เสพ/ติดยาเสพติด ตลอดจนส่งผลให้ต้องสูญเสียกำลังคนในด้านแรงงานที่มีคุณภาพ ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ได้พยายามหามาตรการและวิธีการที่เหมาะสมมาใช้แก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าประเทศไทยแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรการที่รุนแรงและแม้จะสามารถปราบปรามผู้ค้ายาเสพติดได้จำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถทำให้ผู้เสพ/ติดยาเสพติดหายขาดจากการเสพได้เท่าที่ควรอีกทั้งยังปรากฏว่ามีผู้เสพ/ติดยาเสพติดอยู่จำนวนมากซึ่งสาเหตุเกิดจากการแก้ไขปัญหายาเสพติดไม่ตรงจุด โดยเพียงแต่มีการแก้ไขที่ปลายเหตุเท่านั้น ทั้งที่ต้นเหตุแห่งปัญหาได้แก่ตัวผู้เสพ/ติดยาเสพติดนั้นเอง ในการแก้ไขจึงจำเป็นจะต้องการศึกษาและหามาตรการที่เหมาะสมเพื่อนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของผู้เสพ/ติดยาเสพติด ตลอดจนต้องศึกษาหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการกระทำความผิดซ้ำของผู้เสพ/ติดยาเสพติดเพื่อจะได้หาแนวทางยับยั้งการกลับมากระทำความผิดซ้ำของผู้เสพ/ติดยาเสพติดกล่าวคือ การแก้ไขที่ตัวผู้เสพ/ติดยาเสพติด โดยนำไปบำบัดรักษาฟื้นฟู เพื่อให้ผู้เสพ/ติดยาเสพติดสามารถปรับตัวอยู่ร่วมกับสังคมต่อไปได้ ซึ่งเป็นที่มาในการเริ่มเห็นความสำคัญของมาตรการบำบัดรักษาว่าหากใช้มาตรการปราบปรามเพียงอย่างเดียวโดยใช้หลัก “การป้องกันนำหน้าการปราบปรามผู้เสพต้องได้รับการบำบัดรักษาและผู้ค้าต้องได้รับการลงโทษอย่างเด็ดขาด” จากสภาพปัญหายาเสพติดที่มีผู้เสพ/ติดยาเสพติดเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อสังคมและประเทศชาติเป็นอย่างมากทำให้ประเทศต่างๆ พยายามหาวิธีการแก้ไขปัญหาซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่มีความแตกต่างกันหลากหลายวิธีตามความจำเป็น แต่แนวทางการแก้ไขที่ยอมรับกันในทางสากลก็คือการมองผู้เสพ/ติดยาเสพติด เป็น “คนไข้” หรือ “ผู้ป่วย” มิได้มองว่าเป็นอาชญากร ซึ่งในทางสากลยังมองว่าผู้เสพ/ติดยาเสพติดเหล่านี้สมควรที่จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐและสังคมโดยเร่งด่วน เนื่องจากผู้เสพ/ติดยาเสพติด มีความผิดปกติทางร่างกายและจิตใจเท่านั้น ส่วนความผิดก็เกิดจากข้อห้ามที่กำหนดโดยสังคม (Mala Probihita) เท่านั้นซึ่งประเทศไทยก็ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961, อนุสัญญาว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ค.ศ. 1971 และอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการลักลอบค้ายาเสพติดและวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ค.ศ. 1988 ที่กำหนดให้ประเทศภาคีสามารถนำยาเสพติดมาใช้ก็เพียงเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น และให้ประเทศภาคีบัญญัติวิธีการครอบครอง ซื้อ หรือเพาะปลูกยาเสพติดหรือวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทไว้เท่าที่เหมาะสมการที่มาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ได้วางหลักเกณฑ์การเพิ่มโทษไว้รวมถึงกรณีผู้ที่ผู้เสพ/ติดยาเสพติดเคยถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกรวมอยู่ด้วยนั้นยังเป็นปัญหาในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน
รายละเอียด: นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/5865
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:LAW-11. การค้นคว้าอิสระ/สารนิพนธ์



รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น