บทความที่นำเสนอในการประชุมวิชาการ ปีการศึกษา 2550

URI ถาวรสำหรับคอลเล็กชันนี้

เรียกดู

การส่งล่าสุด

ตอนนี้กำลังแสดง1 - 20 ของ 40
  • รายการ
    สัญญะแห่งสถานที่ กรณีศึกษา : ชุมชนชาวจีนย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร
    (2550) ฐิติวัฒน์ นงนุช
    งานวิจัยเรื่องสัญญะแห่งสถานที่เป็นการศึกษาภายใต้กรอบความคิดในการวิจัยจากแนวทางการศึกษาปรากฏการณ์ศาสตร์และสัญศาสตร์ เพื่อการขยายขอบเขตความเข้าใจทางปรากฏการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเมือง ที่ว่างและสถาปัตยกรรม โดยมุ่งเน้นการตอบคำถามที่ว่าสัมผัสการรับรู้สถานที่เกิดขึ้นได้อย่างไรเป็นสาระสำคัญของงานวิจัยชิ้นนี้ จากการศึกษาพบว่าสัมผัสการรับรู้สถานที่เกิดจากองค์ประกอบทางกายภาพที่สำคัญห้าประการ ได้แก่ หนึ่งร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงอยู่ สองวิถีชีวิตในแบบพุทธของชาวจีน สามการซ้อนทับของกิจกรรมในสถานที่เดียวกันอย่างแยกไม่ออก สี่ผู้คนเชื้อสายจีน ห้าสัญลักษณ์ทางพิธีกรรมความเชื่อ อาคารและสถาปัตยกรรม ตลอดจนภาษาที่ใช้ในการสื่อสารระหว่างกัน นอกจากนั้นผลของการวิเคราะห์เพื่อจัดกลุ่มขององค์ประกอบทางกายภาพในฐานะที่เป็นระบบสัญลักษณ์นั้น นำไปสู่ความเชื่อมโยงกับรากฐานทางวัฒนธรรมของชาวจีน ได้แก่ กลุ่มของสัญลักษณ์ทางด้านฮวงจุ้ยมีรากฐานมาจากวัฒนธรรมทางด้านการตั้งถิ่นฐานในแบบชาวจีน กลุ่มของสัญลักษณ์ทางด้านการเคารพบูชามีรากฐานมาจากวัฒนธรรมการเคารพบูชาบรรพบุรุษและเทพเจ้าของชาวจีน กลุ่มของสัญลักษณ์ด้านการประกอบพิธีกรรมมีรากฐานมาจากลัทธิเต๋าและวัฒนธรรมด้านการบริโภค กลุ่มของระบบสัญลักษณ์ทางด้านปรัชญาในการดำรงชีวิตมีความเกี่ยวเนื่องกับทัศนะทางด้านจริยธรรมของชาวจีน ซึ่งเกิดจากการผสมผสานทางความเชื่อในแบบพุทธมหายาน แนวคิดของขงจื้อและเล่าจื้อ รวมทั้งแนวคิดในการปฏิบัติของลัทธิเต๋า จากการวิเคราะห์กรณีศึกษาย่านชุมชน ผังอาคารและที่ว่างในย่านตลาดน้อย พบว่าสัมผัสการรับรู้สถานที่นั้นเกิดจากสัญญะที่สำคัญสี่ประการ กล่าวคือ ผู้คนที่อยู่อาศัย ระบบที่ว่างที่มีความหมายทางระบบสัญลักษณ์ พิธีกรรมที่มีการสืบทอดมาจากความเชื่อดั้งเดิม และรูปแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคม สัญญะทั้งสี่ประการนี้นำไปสู่การตีความและสร้างความหมายให้เกิดขึ้นในผังชุมชน ที่โล่งว่าง อาคารและสถาปัตยกรรมซึ่งมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับผู้อยู่อาศัยในย่านตลาดน้อยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน
  • รายการ
    ศึกษาประสิทธิผลของการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาองค์การ กรณีศึกษาของข้าราชการและเจ้าหน้าที่กรุงเทพมหานคร
    (2550) นิลุบล ศิวบวรวัฒนา
    การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงประสิทธิผลของการพัฒนาองค์การของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ กรุงเทพมหานคร และเพื่อทราบถึงประโยชน์ของการอบรมสัมมนาการพัฒนาองค์การ โดยเก็บข้อมูล จำนวน 2020 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นคำถามแบบเลือกตอบ และแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งสถิติที่ใช้ประกอบด้วย ค่าสถิติพื้นฐานร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาวิจัย พบว่า 1. ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานกรุงเทพมหานคร มีระดับความคิดเห็นของประโยชน์การฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาองค์ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงในการทำงาน มีข้อมูลที่ดีขึ้น มีส่วนร่วมในการทำงานและการทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น 2. โครงการฝึกอบรมเพื่อการพัฒนาองค์กรส่งผลให้เกิดประสิทธิผลและประสิทธิภาพในการทำงาน 3. ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ ได้แก่ เพศ ระดับการศึกษา ระดับตำแหน่งงาน และอายุงานไม่ส่ง ผลต่อประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน ของข้าราชการกรุงเทพมหานคร
  • รายการ
    ยุทธศาสตร์การค้าชายแดนไทย – กัมพูชา: กรณีศึกษา จังหวัดสระแก้ว
    (2550) อนพัทย์ หนองคู
    ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโดจีน ประกอบกับการค้าตามแนวชายแดนในปัจจุบันได้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ยังผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย จังหวัดสระแก้วเป็นหนึ่งใน 7 จังหวัดที่มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชาในเขตจังหวัดบันเตียเมียนเจย ด้วยอาณาเขตที่ติดต่อกันเป็นแนวยาวถึง 165 กิโลเมตร จึงทำให้ประชาชนตามแนวชายแดน มีกิจกรรมค้าขายสินค้ากันมาโดยตลอดนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และถือได้ว่าจังหวัดสระแก้วเป็นประตูการค้าที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งของการค้าชายแดน ซึ่งจะเห็นจากมูลค่าการค้าชายแดนที่มีมูลค่าสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ จากการศึกษาพบว่าการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาโดยเฉพาะตามแนวชายแดนจังหวัดสระแก้วมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องและฝ่ายไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้ามาโดยตลอด เมื่อวิเคราะห์โอกาสและอุปสรรคที่มีต่อการค้าตามแนวชายแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชาในเขตจังหวัดสระแก้ว พบว่าสินค้าไทยมีศักยภาพในการแข่งขันค่อนข้างมาก ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยนี้เป็นผลมาจากสินค้าสามารถขนส่งได้อย่างรวดเร็ว ความนิยมสินค้าไทยของคนกัมพูชา ประโยชน์ที่เกิดจากการที่จังหวัดสระแก้วมีตลาดการค้าชายแดนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นแหล่งกระจายสินค้าที่นำเข้าจากประเทศกัมพูชาไปยังภาคต่างๆ ตลอดจนนโยบายส่งเสริมกิจกรรมการค้าของทั้งสองประเทศ นอกจากนั้นความแตกต่างในด้านความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบด้านการผลิตระหว่างไทยกับกัมพูชา ตลอดจนการที่ประเทศกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษ (GSP) จากประเทศที่พัฒนาแล้ว ยังเป็นโอกาสให้ทั้งสองประเทศเกื้อกูลผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดตั้งฐานการผลิตแบบ Co – Production Area โดยประเทศไทยควรเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตที่ประเทศไทยมีความได้เปรียบ ได้แก่ เงินทุน ผู้ประกอบการ เทคโนโลยี เพื่อตั้งฐานการผลิตในประเทศกัมพูชาที่มีความได้เปรียบในด้านทรัพยากรธรรมชาติ และค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างถูก อย่างไรก็ตามการค้าชายแดนยังมีปัญหาอุปสรรคบางประการ ได้แก่ ปัญหาด้านการค้านอกระบบ ปัญหาด้านระเบียบพิธีการด้านศุลกากร ปัญหาการปักปันเขตแดน ปัญหาข้อจำกัดของพื้นที่จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อำเภออรัญประเทศ ตลอดจนปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาของไทยกับกัมพูชา ซึ่งได้แก่ ปัญหาอาชญากรรม และปัญหายาเสพติดตามแนวชายแดน ผลจากการวิเคราะห์ ผู้วิจัยได้กำหนดยุทธศาสตร์การค้าชายแดนโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ ยุทธศาสตร์ด้านการค้า ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ส่งเสริมให้จังหวัดสระแก้วเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนที่สามารถเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา และประเด็นยุทธศาสตร์ด้านการผลิต ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ โดยอาศัยหลักความความแตกต่างในด้านความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของทรัพยากรระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา โดยอุตสาหกรรมเป้าหมายควรเป็นอุตสาหกรรมที่เน้นการใช้แรงงานในการผลิต ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับเครื่องยนต์ทางการเกษตร และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
  • รายการ
    ผู้แทนทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย: ศึกษากรณีชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนใต้ประเทศไทยและชาวพุทธเชื้อสายไทยในรัฐชายแดนเหนือประเทศมาเลเซีย
    (2550) สุริยะ, สะนิวา
    การวิจัยฉบับนี้เป็นการศึกษาเกี่ยวกับการเป็นผู้แทนด้านการเมืองของชนกลุ่มน้อย มีความมุ่งหมายที่จะ สืบค้นถึงคำถามที่ว่า “ชนกลุ่มน้อยมีผู้แทนทางเมืองอย่างไรในการที่จะดำเนินกิจกรรมให้บรรลุถึงเป้าหมายผลประโยชน์ของชุมชนที่ได้กำหนดไว้?” โดยใช้ชุมชนชาวมุสลิมเชื้อสายมลายูทางใต้ของประเทศไทยและชาวพุทธเชื้อสายไทยทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซียเป็นสนามตรวจสอบ การวิจัยฉบับนี้จึงเป็นวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้ปัจจัยอิสระเจ็ดปัจจัยคือ การมีอิสรภาพในระบบการเมือง การสื่อสารในยุคโลกาภิวัตน์ รูปแบบของการเป็นผู้นำ การเป็นผู้รู้ในศาสนา สภาพความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การศึกษาสูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงด้านทัศนคติ เพื่อค้นหาค่าความเป็นไปได้ โดยมีตัวแปรตามคือ “วิธีการที่ชนกลุ่มน้อยเป็นผู้แทนด้านการเมือง” จึงมีการใช้แหล่งข้อมูลทั้งที่เป็นปฐมภูมิจากการสัมภาษณ์ และที่เป็นทุติยภูมิจากการค้นคว้าจากเอกสารต่างๆ ซึ่งได้จัดทำชุดคำถามหนึ่งชุดสอบถามความคิดเห็น แล้วทำการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรอิสระกับตัวแปรตาม ซึ่งตัวแปรอิสระตัวไหนที่มีระดับของความสัมพันธ์พิจาณณาดูจากความถี่และร้อยละ ค่าของร้อยละที่มากที่สุดจะถือเป็นการยอมรับสมมุติฐานที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งการวิจัยในครั้งนี้พบว่า ผู้นำที่มีหัวเสรีและการศึกษาสูงมีค่าความเป็นไปได้สูงสุด อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์ความเคลื่อนไหวในการเป็นผู้แทนทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของความรุนแรงหรือการเดินสายกลาง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้นำหัวเสรีและสถานภาพการศึกษาสูง แต่จะขึ้นอยู่กับทิศทางการตอบสนองของรัฐบาลที่มีต่อชนกลุ่มน้อยนั้นเอง สิ่งที่น่าสังเกตุคือ ขณะที่ชุมชนมุสลิมเชื้อสายมลายูมีทั้งกระบวนการก่อความความรุนแรงและเดินสายกลาง แต่ชุมชนพุทธเชื้อสายไทยทางตอนเหนือของมาเลเซียไม่เคยรสนับสนุนความรุนแรงเลย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่า รัฐบาลมาเลเซียไม่เคยมีการใช้นโยบายควบคุมที่บังคับชุมชนชาวไทยในประเทศของตนนั้นเอง ส่วนปัจจัยอื่นๆ อีกหกปัจจัยนั้นพบว่า มีความเห็นที่แตกต่างกันจากผู้ตอบคำถามจากทั้งสองกลุ่มศึกษา
  • รายการ
    ผลกระทบของความยุติธรรมและปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีต่อพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ
    (2550) อมร, ถุงสุวรรณ
    การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะและพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ รวมถึง ความยุติธรรมในเชิงกระบวนการ ความยุติธรรมในเชิงผลตอบแทน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับลูกน้อง ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงเหตุผล เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลกระทบ หรือเป็นสาเหตุแห่งพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ โดยมีตัวแปรอิสระ หรือตัวแปรที่เป็นสาเหตุแห่งพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ ประกอบด้วย ความยุติธรรมในเชิงกระบวนการ ความยุติธรรมในเชิงผลตอบแทน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา มีตัวแปรตาม คือพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การและมีตัวแปรควบคุม คือ อายุ อายุงาน และ การรับรู้การสนับสนุนจากองค์การ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้คือพนักงานและผู้บังคับบัญชาของบริษัท ไอซีซี อินเตอร์เนชัลแนล ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสหพัฒน์ หน่วยการวิเคราะห์ ของการศึกษาวิจัยนี้เป็นแบบการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นรายคู่ กล่าวคือข้อมูลหนึ่งหน่วยต้องได้มาจากทั้งผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา ผลจากการวิจัยพบว่าความยุติธรรมในเชิงกระบวนการ ความยุติธรรมในเชิงผลตอบแทน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้นำกับลูกน้อง การรับรู้การสนับสนุนช่วยเหลือจากองค์การ มีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ อายุและอายุงานมีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ ผลการวิเคราะห์การถดถอยพหุเชิงชั้น ปรากฏว่าความยุติธรรมในเชิงกระบวนการ ความยุติธรรมในเชิงผลตอบแทน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้บังคับบัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา มีอำนาจการอธิบายการผันแปรของพฤติกรรมการปฏิบัติงานเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์การ
  • รายการ
    ปัญหาในการทำงานบางเวลา ของนิสิต นักศึกษาในระดับสถาบันอุดมศึกษา
    (2550) ดารา พงษ์สมบูรณ์
    การศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาการทำงานบางเวลาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา โดยเก็บข้อมูลการศึกษาจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาในเขตกรุงเทพฯ จำนวน 6 สถาบัน ประกอบด้วย สถาบันอุดมศึกษาภาครัฐ จำนวน 3 สถาบัน และสถาบันอุดมศึกษาจากภาคเอกชน จำนวน 3 สถาบัน รวมจำนวนกลุ่มตัวอย่าง 400 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบ Accidental Random Sampling และเจาะจงเฉพาะนิสิตนักศึกษาที่ทำงานบางเวลาเท่านั้น สถิติที่ใช้ในงานวิจัยนี้ ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ความถี่ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานในการหาค่าเฉลี่ยข้อมูลเชิงปริมาณ การวิเคราะห์ Chi-Square การวิเคราะห์ความแปรปรวน (ANOVA) และการวิเคราะห์ค่าสัมประสิทธ์สหสัมพันธ์ (Correlation Analysis) ผลการศึกษาพบว่า ปัญหาการทำงานบางเวลาของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นปัญหาในระดับปานกลางถึงมาก คือ ปัญหาทำให้ไม่สนใจการเรียน ความสามารถในการเรียนลดลง ผลการเรียนต่ำลง สุขภาพร่างกายและจิตใจตกต่ำลง มีเพื่อนน้อยลง ขาดโอกาสในการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัย และมีเวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง สาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องทำงานบางเวลามาจาก ค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอกับรายได้ที่ได้รับจากบิดามารดา หรือจากเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ส่วนปัญหาและอุปสรรคในการทำงานบางเวลาในสถานที่ทำงาน เป็นปัญหาระดับปานกลางที่พบมากที่สุด คือเวลาในการทำงานบางเวลาไม่เพียงพอ ชั่วโมงการทำงานไม่สอดคล้อง และไม่เอื้อกับตารางเรียน มีเวลาพักผ่อนน้อยเกินไป อัตราค่าจ้าง ค่าตอบแทนไม่เหมาะสม สวัสดิการที่องค์กรให้แก่นักศึกษาไม่เหมาะสม งานในหน้าที่ไม่ตรงกับสาขาที่เรียน ไม่มีผู้ให้คำแนะนำและคำปรึกษาที่ดีในระหว่างทำงาน ขาดความรู้ในงานที่ต้องรับผิดชอบ สถานที่ทำงานขาดการมอบหมายงานที่ดี ปริมาณงานที่ได้รับมอบหมายมีมากเกินไป ไม่มีระบบการติดต่อสื่อสารที่ดี งานที่ทำไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้ งานในหน้าที่มีความยุ่งยาก ซ้ำซ้อน หลายขั้นตอน ระบบงานภายในองค์กรไม่คล่องตัว ไม่มีความสามารถในการใช้เครื่องมือสื่ออุปกรณ์ มีความขัดแย้งกันระหว่างบุคคลในสถานที่ทำงาน และเข้ากับผู้ร่วมงานไม่ได้ นอกจากนี้ นิสิตนักศึกษามีความต้องการที่จะให้สถาบันการศึกษาของตนให้การสนับสนุนปัจจัยต่างๆ เพื่อให้การทำงานบางเวลาดำเนินไปด้วยดี ปราศจากปัญหาอุปสรรค โดยเสนอให้มีคะแนนประสบการณ์ในการทำงานบางเวลา ให้คิดเป็นจำนวนหน่วยกิต และมีผลการประเมิน เพื่อให้ทุนสนับสนุนเบื้องต้นที่จำเป็น รวมทั้งให้เกียรติบัตรและวุฒิบัตร ส่วนข้อดีในการทำงานบางเวลาของนิสิตนักศึกษา พบว่าอยู่ในระดับมากทั้งหมดคือ ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พึ่งพาตนเองได้ มีความภาคภูมิใจและเป็นการพัฒนางานอาชีพ พัฒนาความชำนาญด้านการสื่อสารและปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่น นอกจากนี้นิสิตนักศึกษา ยังได้ให้ข้อเสนอแนะว่า องค์กรควรมีระบบพี่เลี้ยงที่ดี เพื่อให้เวลาในการให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดและเพียงพอ ตลอดจนระยะเวลาในการทำงานบางเวลา ควรให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับตารางเรียนในมหาวิทยาลัย ซึ่งจะทำให้นิสิตนักศึกษา ไม่เครียดจนเกินไป และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย
  • รายการ
    ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนิสิต-นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร
    (2550) สุภาวดี, ฮะมะณี
    การศึกษา “ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนิสิต-นักศึกษาในระดับอุดมศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไป ศึกษาพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ ศึกษาปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ ควรทดสอบสมมติฐานและศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ของนิสิต-นักศึกษาที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง การศึกษาครั้งนี้ได้ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างจากนิสิต-นักศึกษาระดับปริญญาตรีที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานครที่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยใช้แบบสอบถามจำนวน 400 ชุด โดยทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และการทดสอบสมมติฐานด้วย t-test และ F-test ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 19-22 ปี ไม่เป็นนักศึกษากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาได้รับรายได้จากบิดา-มารดาโดยเฉลี่ยเดือนละ3,000-4,999 บาทโดยผู้ปกครองมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 20,000-39,999 บาท ส่วนใหญ่ใช้โทรศัพท์ยี่ห้อ Nokia ระบบ Orange ชำระค่าบริการโดยใช้บัตรเติมเงิน เวลาที่ใช้เฉลี่ย 5-14 นาทีต่อครั้ง ในช่วงเวลา 18.00-21.00 น. โดยใช้ 3-6 ครั้งต่อวันและใช้ติดต่อกับเพื่อนมากที่สุด เหตุผลสำคัญที่เลือกใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ลำดับแรกคือ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว บริการเสริมที่ใช้มากที่สุดคือการแสดงหมายเลขรับสายและส่วนใหญ่เห็นว่าการมีโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสิ่งจำเป็น ปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่ออุปสงค์โทรศัพท์เคลื่อนที่มากที่สุด คือ ปัจจัยด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้งาน สำหรับปัจจัยด้านราคากลุ่มตัวอย่างจะให้ความสำคัญเรื่องราคาเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปัจจัยด้านสถานที่และช่องทางการจัดจำหน่ายกลุ่มตัวอย่างจะให้ความสำคัญเรื่องความน่าเชื่อถือของร้านที่จำหน่ายและปัจจัยด้านการส่งเสริมการขายให้ความสำคัญในเรื่องการบริการหลังการขาย จากการทดสอบสมมติฐานพบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ สถานภาพเป็นนักศึกษากองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา และรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของนักศึกษา มีความสัมพันธ์กับปัจจัยส่วนประสมทางการตลาดที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 ปัจจัย ได้แก่ ด้านผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับฟังก์ชั่นการใช้งานและตรายี่ห้อ ด้านราคาเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง และด้านการส่งเสริมการขายเกี่ยวกับการมีโบนัสพิเศษ การศึกษาปัญหาและอุปสรรคของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่พบว่าสัญญาณเครือข่ายไม่ชัดเจน และราคาเครื่องโทรศัพท์ใหม่แพง
  • รายการ
    ปัจจัยทางด้านทักษะการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการทำงานของพนักงานขายในธุรกิจขายตรง
    (2550) กิ่งแก้ว พรอภิรักษสกุล
    การวิจัยเรื่องปัจจัยทางด้านทักษะการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการทำงานของพนักงานขายในธุรกิจขายตรง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยส่วนบุคคลและลักษณะงานที่มีผลต่อประสิทธิผลของพนักงานขายในธุรกิจขายตรงของบริษัทขายตรงที่เป็นสมาชิกกับสมาคมขายตรงไทย ผลการวิจัยพบว่าปัจจัยทางด้านทักษะการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการทำงานของพนักงานขายในธุรกิจขายตรงในภาพรวมจำแนกตามตัวแปรในภาพรวมอยู่ในระดับมากทุกปัจจัย โดยเรียงลำดับความสำคัญดังนี้คือ อันดับ 1 ระดับความจริงปัจจัยทางด้านบทบาทของการเป็นพนักงานขาย อันดับ 2 ความพอใจในองค์กรการขาย และความพอใจในผู้นำกลุ่มการขาย ความพอใจสมาชิกในทีมงานขาย การจูงใจขององค์กรขายความพึงพอใจในลักษณะงานขาย ความสอดคล้องทางบทบาทของพนักงานขาย การวางแผนบทบาทของพนักงานขาย การสร้างความเชื่อมั่นในการขาย และความพอใจในลูกค้าและผู้มุ่งหวังตามลำดับ จากการวิเคราะห์โดยการใช้ Regression Analysis และ One-way Anova เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ 1-10 พบว่าทุกปัจจัยในขอบเขตของการวิจัยครั้งนี้ ที่มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับประสิทธิผลในการทำงานของพนักงานขายในธุรกิจขายตรง
  • รายการ
    บทบาทของรัฐธรรมนูญเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทย
    (2550) ปรีชา จำรัสศรี
    การปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นการปกครองที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดได้รับรองสิทธิ เสรีภาพ และมีกฎหมายบัญญัติให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มีการปฏิรูประบบการเมืองเพื่อให้การพัฒนาประชาธิปไตยได้ยั่งยืนตลอดไป มีประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อม
  • รายการ
    แนวทางการปรับปรุงการใช้พลังงานในอาคารสยามบรมราชกุมารี
    (2550) กนกวรรณ อุสันโน
    ปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าโดยรวมของประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการใช้งบประมาณจำนวนมากในการจัดหาพลังงาน และ สร้างแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้งาน ในการนี้ก่อให้เกิดผลกระทบตามมาต่อสภาพแวดล้อมและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ หากปริมาณการใช้ยังเพิ่มสูงขึ้นต่อไป ในอนาคตประเทศไทยอาจประสบกับภาวะการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และระบบเศรษฐกิจในระดับชาติได้ อาคารสยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นอาคารเรียนและสำนักงานขนาดใหญ่อาคารหนึ่ง มีพื้นที่ใช้สอยรวม 27,417 ตารางเมตร มีการใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่า 2,000,000 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี การวิเคราะห์และทดสอบเพื่อหาสาเหตุความสิ้นเปลืองพลังงาน และการแก้ปัญหาโดยวิธีการที่เหมาะสม จะเป็นแนวทางในการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าในอาคารให้แก่เจ้าของอาคารอื่นๆที่มีขนาดและลักษณะการใช้งานใกล้เคียงกันได้ นอกจากนี้ยังเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้เกี่ยวข้องได้เตรียมการวางแผน และออกแบบอาคารให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นไป จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ความสิ้นเปลืองพลังงานส่วนใหญ่ของอาคารสยามบรมราชกุมารี มีสาเหตุมาจาก ความร้อนของเครื่องปรับอากาศที่ระบายออกทาง Condensing Unit ซึ่งตั้งอยู่ที่ระเบียงด้านทิศเหนือและทิศใต้ของอาคาร และติดกับผนังกระจกของห้องที่ทำการปรับอากาศ ทำให้อุณหภูมิผิวกระจกสูงขึ้นและส่งผ่านความร้อนกลับเข้าสู่ภายในห้อง เป็นภาระการทำความเย็นแก่เครื่องปรับอากาศอีกครั้งหนึ่ง แสงแดดที่กระทำต่ออาคารด้านทิศใต้และทิศตะวันตก ส่งผลต่อภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านการใช้แสงประดิษฐ์ที่ไม่สัมพันธ์กับความต้องการใช้งาน ทั้งความเข้มในการส่องสว่าง และการกระจายแสง การไม่แบ่งกลุ่มการใช้งานในระบบแสงสว่างและไม่มีการใช้สัญลักษณ์ให้เป็นที่เข้าใจแก่ผู้ใช้อาคาร ทางเดินภายในอาคารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้ ทำให้ความสูญเสียพลังงานไฟฟ้าในระบบแสงสว่างเพิ่มขึ้น ในงานวิจัยนี้ ได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยติดตั้งปล่องระบายความร้อนให้กับ Condensing Unit ทุกตัว เพื่อระบายความร้อนออกสู่ภายนอกอาคารโดยตรง การติดตั้งอุปกรณ์กันแดดให้แก่อาคารด้านทิศใต้และทิศตะวันตก เพื่อป้องกันการแผ่รังสีโดยตรงจากดวงอาทิตย์ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้แสงประดิษฐ์ทั้งการกระจายแสง และการใช้อุปกรณ์ในระบบ แสงประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพสูง และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อช่วยลดค่าความต้องการใช้ไฟฟ้าลง แนวทางแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆที่ได้นำเสนอ ผู้วิจัยได้ทำการวิเคราะห์ผลตอบแทนในการลงทุนควบคู่ไปด้วย เพื่อเสนอแนวทางปฏิบัติที่มีความเหมาะสมสูงที่สุด สรุปได้คือ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้แสงประดิษฐ์ ถึงแม้จะใช้งบประมาณในการลงทุนสูง แต่ให้ผลตอบแทนในการลงทุนเร็วที่สุด คือ 1 ปี 5 เดือน และสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าต่อปีได้มากกว่าวิธีอื่น การติดตั้งปล่องระบายความร้อนสามารถคืนทุนได้ในเวลา 2 ปี การปรับปรุงประสิทธิภาพของอุปกรณ์กันแดดด้านทิศใต้ และทิศตะวันตก ใช้เวลาในการคืนทุนมากกว่า 10 ปี ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากอุปกรณ์กันแดดเดิมของอาคารนี้ ซึ่งเป็นกันสาด และระเบียงทางเดิน ต่างก็มีประสิทธิภาพในการกันแดดได้ดีในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ส่วนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์นั้น มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ประกอบกับแผง solar cell มีอายุการใช้งานที่จำกัด ในกรณีนี้จึงไม่เหมาะสมในการลงทุน
  • รายการ
    คำศัพท์เฉพาะทางดนตรีที่ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรมชาวมอญในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี
    (2550) การุณันทน์ รัตนแสนวงษ์
    การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลตามประเด็นศึกษากับวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรมของชาวมอญในเขตพื้นที่จังหวัดปทุมธานี รวมทั้งการศึกษา รวบรวมและจัดหมวดหมู่คำศัพท์และวิเคราะห์คำศัพท์เฉพาะทางดนตรีตามหลักภาษาไทย ผลการวิจัยพบดังนี้ 1. ประวัติทั่วไป ประวัติดั้งเดิมของชาวมอญจังหวัดปทุมธานีอพยพมาจากเมืองเมาะตะมะ ปัจจุบันมีชาวมอญอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น 2 อำเภอ คือ อำเภอเมืองปทุมธานี และอำเภอสามโคก 2. ความเป็นมาของวงดนตรีในชุมชนชาวมอญ วงดนตรีมอญเก่าแก่ของจังหวัดมาจาก 2 ตระกูล คือ ตระกูลดนตรีเสนาะและดนตรีเจริญ ปัจจุบันพบว่ามีวงดนตรีเพิ่มขึ้นหลายวงและหลากหลายรูปแบบ มีทั้งวงดนตรีมอญดั้งเดิม วงดนตรีมอญผสมไทย และวงดนตรีไทย 3. วิธีการถ่ายทอดของบุคคลดนตรี ในอดีตจะสอนในบ้านให้กับบุคคลในตระกูลและเป็นการถ่ายทอดโดยใช้วิธีท่องจำ และด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปปัจจุบันพบว่ามีการสอนนอกบ้านมากขึ้นโดยเฉพาะตามสถานศึกษา เป็นการถ่ายทอดดนตรีให้กับบุคคลนอกตระกูลโดยใช้วิธีการถ่ายทอดแบบมีตัวโน้ต 4. บทบาทของบุคคลดนตรีพบว่า มีบทบาทด้านการสืบทอดประวัติศาสตร์วงดนตรีมอญ การสืบทอดและการเผยแพร่ดนตรีทั้งในและนอกชุมชน การอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญ การส่งเสริมภาพลักษณ์ชุมชนชาวมอญ และการเสริมสร้างชื่อเสียงให้แก่สังคมและวัฒนธรรมไทย 5. ประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในชุมชน ประเพณีที่สำคัญของนักดนตรีคือ การไหว้ครู ส่วนพิธีกรรมสำคัญที่ต้องใช้ดนตรีปี่พาทย์มอญเป็นหลัก คือพิธีรำผี พิธีศพ ทะแยมอญ และมอญรำ นอกจากนี้ก็สามารถใช้ดนตรีบรรเลงได้ในเทศกาลทั่วไป 6. ดนตรีและเพลงที่ปรากฏในชุมชนชาวมอญ พบว่าวงดนตรีหลักยังคงเป็นดนตรีปี่พาทย์มอญ ส่วนเพลงที่นำมาบรรเลงปัจจุบันมีทั้งเพลงเก่าและใหม่ บรรเลงได้ทั้งในงานมงคลและอวมงคล แต่ถ้าเป็นเพลงมอญดั้งเดิม ส่วนใหญ่ใช้เฉพาะวงปี่พาทย์มอญ และนิยมบรรเลงในงานอวมงคล 7. คำศัพท์เฉพาะทางดนตรีที่ปรากฏในสังคมและวัฒนธรรมของชาวมอญพบว่า มีจำนวน 256 คำ แบ่งเป็นหมวดตัวอักษร 26 หมวด จำนวนคำภาษาไทย จำนวน 202 คำ และคำภาษามอญ จำนวน 54 คำ ผลการวิเคราะห์ชนิดของคำตามหลักภาษาไทย พบว่ามี 3 ชนิด คือ คำนาม คำกริยา และคำวิเศษณ์ คำศัพท์เหล่านี้ส่วนมากมีความหมายเฉพาะในทางดนตรีที่แตกต่างจากความหมายในพจนานุกรม มีเพียงบางคำเท่านั้นที่มีความหมายสอดคล้องและใกล้เคียงเป็นไปตามหลักเดียวกับในพจนานุกรม
  • รายการ
    ค่านิยมทางเพศกับปริมาณการอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร
    (2550) สุวรีย์, ชิตะปรีชา
    ค่านิยมทางเพศกับปริมาณการอ่านหนังสือ การ์ตูนญี่ปุ่นของวัยรุ่นในกรุงเทพมหานคร”มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาทัศนคติที่มีต่อการอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นฯ ปริมาณการอ่านฯ ค่านิยมทางเพศ ของวัยรุ่นในกรุงเทพหานคร ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับปริมาณการอ่านฯ ศึกษาปริมาณการอ่านหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ต่างกันมีผลต่อค่านิยมทางเพศ เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปริมาณการอ่านด้านความบ่อยกับค่านิยมทางเพศพบว่า นักเรียนฯที่มีความบ่อยในการอ่านฯทุกวันจะมีความคิดเห็นต่อค่านิยมทางเพศที่แตกต่างกว่า นักเรียนที่มีความบ่อยในการอ่านฯ 2-4 วันและนาน ๆ ครั้ง เปรียบเทียบความแตกต่างด้านจำนวนชั่วโมงในการอ่านกับค่านิยมทางเพศพบว่าอ่านน้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง จะมีค่านิยมทางเพศแตกต่างกว่าอ่านวันละ 3-4 ชั่วโมงและ 4-5 ชั่วโมง และอ่านฯ วันละ 1-2 ชั่วโมงมีค่านิยมทางเพศแตกต่างกว่าอ่านวันละ 4-5 ชั่วโมงอย่างมีนัยสำคัญที่สถิติ.05 และเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปริมาณการอ่านกับค่านิยมทางเพศพบว่าปริมาณในการอ่านฯ 3-4 เล่มฯจะมีความคิดเห็นต่อค่านิยมทางเพศแตกต่างกว่าปริมาณในการอ่าน 1-2 เล่ม 5-6 เล่ม และ 7เล่มขึ้นไปอย่างมีนัยสำคัญที่สถิติ.05
  • รายการ
    ความพึงพอใจ ความเชื่อมั่นด้านการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและความสามารถที่พึงประสงค์ของตำรวจท่องเที่ยว
    (2550) ปาจรีย์ ผลประเสริฐ และคณะ
    วัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้เพื่อศึกษา 1) ความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มีต่อการให้บริการของตำรวจท่องเที่ยว 2) ความเชื่อมั่นด้านการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และ 3) ความสามารถที่พึงประสงค์ของตำรวจท่องเที่ยว โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากนักท่องเที่ยว ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการท่องเที่ยว และตำรวจท่องเที่ยว ผลการวิจัยพบว่านักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อการให้บริการของตำรวจท่องเที่ยวในระดับมากและมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค มีความเชื่อมั่นด้านการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวในระดับปานกลางและมีความแตกต่างกันตามภูมิภาค สำหรับความสามารถที่พึงประสงค์ของตำรวจท่องเที่ยว 8 ประการ คือ สามารถใช้ภาษาต่างประเทศได้ดี มีจิตสำนึกในการให้บริการที่ดี มีความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานในหน้าที่ มีทักษะในการติดต่อสื่อสาร ประสานงานได้ดี มีจริยธรรม ประพฤติตนเหมาะสม เป็นแบบอย่างที่ดี มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีบุคลิกภาพน่าเชื่อและน่าไว้วางใจ และมีความสามารถและทักษะในการแก้ไขปัญหา
  • รายการ
    การสร้างและทดสอบเครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์
    (2550) สายหยุด, อุไรสกุล
    การวิจัย เรื่องการสร้างและทดสอบเครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์ เป็นการวิจัยแบบทดลอง วัตถุประสงค์การวิจัย เพื่อสร้างและทดสอบเครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ได้เครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งสร้างเป็นแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์พร้อมวิธีการวัดและเกณฑ์การวัดความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย เป็นนักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนวิชาจิตวิทยาทั่วไป ภาคเรียนที่ 1,ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2548และภาคเรียนที่ 1,ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา2549 กลุ่มตัวอย่าง ที่ได้มาใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling)เพื่อให้ได้ข้อมูลจำนวนมาก ผลการวิจัยสรุปว่า ได้วิธีการสร้างเครื่องมือวัดความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นแบบทดสอบประกอบด้วยภาพการ์ตูน จำนวนโดยประมาณ 7 ช่องและสร้างเงื่อนไขในการเติมภาพทั้งแผ่นให้สมบรูณ์ เป็นเงื่อนไขที่กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ หลังจากนั้นนำข้อมูลจากแบบทดสอบไปสรุปหาเกณฑ์ในการวัดความคิดสร้างสรรค์ได้เกณฑ์การวัดความคิดสร้างสรรค์ 6 ด้าน ได้แก่ เกณฑ์การวัดความคิดคล่องตัว , เกณฑ์การวัดความคิดยืดหยุ่น, เกณฑ์การวัดความคิดริเริ่ม, เกณฑ์การวัดความคิดละเอียดลออ, เกณฑ์การวัดความคิดเชื่อมโยง และเกณฑ์การวัดความคิดพลิกเแพลง การกำหนดน้ำหนักคะแนนความคิดสร้างสรรค์แบ่งได้ 3 กลุ่ม กลุ่มที่1 มีคำตอบไม่ซ้ำกับคนอื่นได้คะแนน 5 คะแนน กลุ่มที่ 2 มีคำตอบซ้ำกับคนอื่น ได้คะแนน 3 คะแนน กลุ่มที่ 3 ไม่มีคำตอบ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ได้คะแนน 1 คะแนน
  • รายการ
    การศึกษาวัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร
    (2550) ประพันธ์ ชัยกิจอุราใจ
    การวิจัยเรื่อง “การศึกษาวัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร และเพื่อศึกษาประเภทผู้รับใบอนุญาต และอายุการก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่มีผลต่อวัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้วิจัยได้ใช้วิธีการวิจัยเชิงสำรวจโดยใช้แบบสอบถาม ประชากร คืออาจารย์ประจำที่ปฏิบัติงานอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยที่มีสถานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 4,700 คน สามารถกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างได้ 369 คน และใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นตามสัดส่วนด้วยประเภทผู้รับใบอนุญาต เก็บรวบรวมข้อมูลและนำข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วยสถิติความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และไคสแควร์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ผลการวิจัยสรุปว่าอาจารย์ประจำสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง อายุอยู่ในช่วง 31-40 ปี ระดับการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาโท ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ตนสังกัดอยู่ในช่วง 5-10 ปี รายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ในช่วง 20,001–30,000 บาท เป็นอาจารย์ประจำสายวิชาการ ไม่มีตำแหน่งทางการบริหารและตำแหน่งทางวิชาการ ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตประเภทนิติบุคคล และ ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัยที่มีอายุมากกว่า 30 ปี วัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร โดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ประเภทผู้รับใบอนุญาตไม่มีผลต่อวัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร แต่อายุการก่อตั้งมหาวิทยาลัยมีผลต่อวัฒนธรรมองค์การของสถาบันอุดมศึกษาเอกชนไทยในเขตกรุงเทพมหานคร
  • รายการ
    การศึกษาพฤติกรรมการเปิดรับข่าวสาร ทัศนคติ และการมีส่วนร่วมในการกำหนดรูปแบบและเนื้อหารายการวิทยุชุมชน ตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก
    (2550) บุษบา หินเธาว์
    การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาบริบทชุมชน ทัศนคติและพฤติกรรมของคนในตำบลหัวรอ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ที่มีต่อการเปิดรับข่าวสารจากวิทยุชุมชน ตลอดจนรูปแบบและเนื้อหารายการวิทยุชุมชน FM 100.25 MHz. ศึกษาปัจจัยในการกำหนดรูปแบบและเนื้อหารายการ วิธีการดำเนินงานและกระบวนการบริหารงานอย่างมีส่วนร่วมในรายการวิทยุชุมชน การวิจัยครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก (In - depth Interview) และการจัดประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ตัวอย่างประชากรคือประชาชนตำบลหัวรอ ผลการศึกษา พบว่า สภาพสังคมของตำบลหัวรอส่วนใหญ่เป็นสังคมแบบชนบท ยกเว้นบางชุมชนที่มีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนเมือง ผู้ที่รับฟังรายการวิทยุชุมชนส่วนมาก เป็นนักศึกษา แม่บ้าน และข้าราชการบำนาญ ส่วนมากฟังวิทยุชุมชนที่บ้านในช่วงเย็น ประชาชนตำบลหัวรอมีความเห็นว่า วิทยุชุมชน FM 100.25 MHz. มีรูปแบบและเนื้อหา ที่น่าสนใจและเปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีส่วนร่วม ผู้ดำเนินรายการมีความรู้ในเรื่องที่ดำเนินรายการเป็นอย่างดี มีอัธยาศัยดีและเป็นกันเองกับผู้ฟัง เนื้อหารายการประกอบด้วยการให้ข้อมูลข่าวสารของท้องถิ่นและความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคม เนื้อหายืดหยุ่นไม่ตายตัว มีรูปแบบที่หลากหลายและน่าสนใจ โดยมากใช้รูปแบบการพูดคุยสลับกับการเปิดเพลงและรายการข่าว ประชาชนเห็นว่า รายการวิทยุชุมชนสามารถสร้างความสัมพันธ์ให้กับชุมชน และเพิ่มพูนทักษะใน การประกอบอาชีพ ปัจจัยในการกำหนดรูปแบบและเนื้อหารายการวิทยุชุมชน คือ ผู้ฟังรายการ ผู้จัดรายการ หน่วยงานต้นสังกัดของผู้จัดรายการ คณะกรรมการบริหารวิทยุชุมชนตำบลหัวรอ กฎและระเบียบของวิทยุชุมชนตำบลหัวรอ และกระบวนการบริหารงาน จะใช้วิธีดำเนินงานแบบมีส่วนร่วม โดยผู้ฟังจะมีส่วนร่วมในการจัดรายการ โดยการแสดงความคิดเห็น/ข้อเสนอแนะ แจ้งข่าวสาร ขอความช่วยเหลือ ร้องเรียน/ร้องทุกข์ และเพื่อระบายความอึดอัดใจ โดยใช้วิธีโทรศัพท์ ส่งจดหมาย และเดินทางมาด้วยตนเองที่สถานีวิทยุฯ
  • รายการ
    การศึกษาปัจจัยจูงใจและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในการตัดสินใจประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
    (2550) ศรัณย์ภัทร เรืองประไพ
    การศึกษาเรื่องปัจจัยจูงใจและแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ ของนิสิตนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในการตัดสินใจประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงปัจจัยจูงใจ และ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ของนิสิตนักศึกษา ในการ ตัดสินใจประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เพื่อประโยชน์ในการวางแนวทางพัฒนาหลักสูตรการศึกษา ให้สอดคล้องกับมาตรการด้านทรัพยากรมนุษย์ ตามนโยบายของภาครัฐ ซึ่งจะเป็น รากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป การศึกษาวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยศึกษาข้อมูล ปฐมภูมิ และทุติยภูมิ ในด้านข้อมูลปฐมภูมิมุ่งศึกษาถึง ตัวแปรส่วนบุคคล ตัวแปรด้านแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ และตัวแปรด้านปัจจัยจูงใจ ส่วนข้อมูลทุติยภูมิ ศึกษาค้นคว้าและรวบรวม ข้อมูลจากเอกสารต่างๆ แนวคิด ทฤษฎี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ กำหนดขอบเขตโดยศึกษานิสิตนักศึกษา ระดับปริญญาตรี ชั้นปีสุดท้าย จำนวน 394 คน จาก สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ 3 แห่ง และสถาบันการศึกษาของเอกชน 3 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยหอการค้า
  • รายการ
    นโยบายทางการเงินธุรกิจด้านการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนและงบประมาณการลงทุนของบริษัทมหาชนจำกัด
    (2550) รัญชนา รัชตะนาวิน
    ผลการศึกษาวิจัยของผู้บริหารทางการเงินของบริษัทมหาชนจำกัด 57 กลุ่มตัวอย่าง เกี่ยวกับนโยบายทางการเงินธุรกิจของบริษัทมหาชนจำกัด ที่นำไปใช้ในการตัดสินใจการลงทุนและงบประมาณลงทุนของธุรกิจ และลักษณะของกลุ่มประชากรมีความสัมพันธ์กับการใช้นโยบายทางการเงินธุรกิจในการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนด้านงบประมาณเงินทุนและโครงสร้างเงินทุนในประเทศไทย มีอัตราการตอบกลับ 10.75% ซึ่งใกล้เคียงกับผลงานวิจัยในอดีต ผลการศึกษาวิจัยพบว่า NPV, IRR, Payback Period และ CAPM เป็นเทคนิคที่องค์กรส่วนใหญ่นิยมใช้ ในการประเมินการลงทุนในโครงการต่าง ๆ และเมื่อทดสอบความสัมพันธ์พบว่า ถ้าบริษัทมียอดขายต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น การใช้เทคนิคในการตัดสินใจงบประมาณเงินทุนจะมีมากยิ่งขึ้น ในขณะที่อายุของผู้บริหารมากขึ้นจะทำให้การใช้เทคนิคในการตัดสินใจเกี่ยวกับงบประมาณเงินทุนน้อยลง และเมื่อทดสอบเกี่ยวกับปัจจัยผลกระทบที่มีต่อนโยบายหนี้สินพบว่า ถ้าผู้บริหารทางการเงินมีการศึกษาสูงขึ้น จะทำให้กำหนดนโยบายโครงสร้างเงินทุนด้านนโนบายหนี้สินเพิ่มมากยิ่งขึ้น และบริษัทจะกู้ยืมเงินก็ต่อเมื่อกำไรของบริษัทในปัจจุบัน ซึ่งเป็นแหล่งของเงินทุนภายในไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน บริษัทจึงจะออกหุ้นกู้ แต่เป็นที่น่าประหลาดใจเมื่อกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ จะพิจารณาการออกหุ้นสามัญก็ต่อเมื่อราคาหุ้นบริษัทปัจจุบันสูงขึ้น จะทำให้ราคาที่ออกหุ้นสามัญสูงขึ้น แต่อาจจะไม่ได้คำนึงถึงกำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทลดลง
  • รายการ
    การศึกษาการจัดทำและการนำเสนองบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีไทยโดยอิงมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย : กรณีศึกษากลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม
    (2550) ฐิตาภรณ์ สินจรูญศักดิ์
    การศึกษาการจัดทำและการนำเสนองบการเงิน และปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการจัดทำและการนำเสนองบการเงิน พบว่า ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ได้จัดทำและนำเสนองบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีอย่างครบถ้วน และมีเหตุผลเพียงพอในกรณีที่ไม่สามารถจัดทำตามมาตรฐานการบัญชีได้ สำหรับผู้สอบบัญชีเมื่อตรวจสอบและพบว่า บริษัทไม่ได้แก้ไขปรับปรุงตามข้อทักท้วงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จะแสดงความเห็นต่องบการเงินอย่างมีเงื่อนไข หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับงบการเงินที่ไม่เปิดเผยข้อมูลอย่างถูกต้องและครบถ้วนที่เป็นสาระสำคัญ และเจ้าหน้าที่กำกับดูแล ได้ทักท้วงให้บริษัทแก้ไขปรับปรุงกรณีที่ไม่ได้จัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี และส่งเสริมให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี สำหรับมาตรฐานการบัญชีที่ประกาศใช้ครั้งนี้สามารถอ่านและเข้าใจในเนื้อหาและสามารถนำไปปฏิบัติได้ โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ทำให้ได้รับประโยชน์ เช่น งบการเงินมีความเป็นสากล มีการเปิดเผยข้อมูลครบถ้วนและสมบูรณ์มากขึ้น ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่องบการเงิน ขณะเดียวกันก็พบปัญหาและอุปสรรค ด้านการขาดตัวอย่างเพื่อประกอบการสร้างความเข้าใจ มีวิธีการทางบัญชีที่ซับซ้อนในทางปฏิบัติ ขาดคำอธิบายที่เพียงพอในการเข้าใจ การทดสอบสมมติฐาน พบว่า หมวดอุตสาหกรรมกระดาษและวัสดุการพิมพ์ และเครื่องมือและเครื่องจักร ธุรกิจขนาดเล็ก และผู้มีประสบการณ์ในการทำงานน้อยกว่า 5 ปี มีผลต่อการจัดทำและการนำเสนองบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีไทย โดยอิงมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ ด้านการมีบทบาทและการสนับสนุน ด้านการอ่านและความเข้าใจในเนื้อหาของมาตรฐานการบัญชี และด้านประโยชน์ที่ได้รับ อย่างมีนัยสำคัญ
  • รายการ
    การรับรู้และความคิดเห็นของนิสิตต่อการป้องกันปัญหาสารเสพติดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน
    (2550) วิชาญ, วงษ์สังข์
    การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) การรับรู้ของนิสิตต่อการป้องกันปัญหาสารเสพติดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน 2) ความคิดเห็นของนิสิตต่อการป้องกันปัญหาสารเสพติดในมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นิสิตระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 1,864 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ค่าสถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1) การรับรู้ของนิสิตต่อการป้องกันปัญหาสารเสพติดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละด้าน พบว่า นิสิตมีการรับรู้ในเรื่องเกี่ยวกับสารเสพติดอยู่ในระดับมาก เนื้อหาที่นิสิตรับรู้มากที่สุดคือ โทษและอันตรายของสารเสพติด เนื้อหาที่รับรู้น้อยที่สุดได้แก่ วิธีการให้ความช่วยเหลือ/บำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด นิสิตมีการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับสารเสพติดจากสื่อประชา สัมพันธ์ในระดับปานกลาง สื่อที่นิสิตมีการรับรู้มากที่สุดได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อที่รับรู้น้อยที่สุดได้แก่ สื่อประชา สัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย 2) ความคิดเห็นของนิสิตต่อการป้องกันปัญหาสารเสพติดในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยรวมอยู่ในระดับมาก สภาพแวดล้อมในสังคมที่เป็นสาเหตุทำให้ปัญหาสารเสพติดมีเพิ่มมากขึ้นนิสิตมีความเห็นว่ามีสาเหตุมากที่สุดจากแหล่งสถานบริการบันเทิงยามค่ำคืน มีความเห็นว่าสาเหตุน้อยที่สุดได้แก่ การลอกเลียนแบบศิลปินดาราผู้มีชื่อเสียง ด้านสถานที่ที่เหมาะสมต่อการจัดกิจกรรมการป้องกันปัญหาสารเสพติดได้แก่ อาคารศูนย์เรียนรวม มีความเหมาะสมน้อยที่สุดได้แก่ บริเวณสนามกีฬา และด้านรูปแบบและแนวคิดการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาสารเสพติด นิสิตมีความเห็นว่าการเผยแพร่ความรู้ข่าวสารและกิจกรรมเรื่องสารเสพติดดีที่สุดได้แก่ การผลิตรายการโทรทัศน์/ประชาสัมพันธ์ผ่าน KU Channel นิสิตมีความเห็นว่าดีน้อยที่สุดได้แก่ การจัดเวทีอภิปรายระดมความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาสารเสพติด