Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/732
Title: การประกันภัยความรับผิดในวิชาชีพกฎหมาย
Authors: นิยุทธ์ เนติฤทธิ์
Keywords: ความรับผิด
การประกันภัย
วิชาชีพนักกฎหมาย
Issue Date: 13-February-2551
Abstract: วิชาชีพกฎหมาย เป็นวิชาชีพที่ผู้ประกอบอาชีพต้องอาศัยทั้งความรู้ความชำนาญทางด้านกฎหมายในการให้บริการแก่ลูกความที่มีปัญหาเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการให้คำปรึกษาร่างเอกสารสัญญา รวมตลอดถึงการว่าความในศาล เป็นต้น สามารถคุ้มครองผลประโยชน์และรักษาความยุติธรรมตามกฎหมายให้แก่ลูกความของตนเองได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งผดุงไว้ซึ่งความเป็นธรรมแก่สังคมด้วย ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายนอกจากต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีความละเอียดรอบคอบใช้ความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพ มีความสุจริต ประพฤติตนให้อยู่ในมรรยาทและจรรยาบรรณอันดีแห่งวิชาชีพให้สมกับความไว้เนื้อเชื่อใจที่ลูกความมีให้แก่ตน แต่ปัจจุบันการประกอบวิชาชีพกฎมายได้เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มาเป็นรูปแบบของการแข่งขันเชิงธุรกิจเพื่อความอยู่รอดมากขึ้นตามความเจริญทางเศรษฐกิจเและความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย ต้องรับงานเป็นจำนวนมากขึ้น จึงไม่มีเวลาอุทิศให้กับงานที่ได้รับมอบหมายงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ หรือรับงานโดยขาดความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นๆอย่างเพียงพอ เป็นเหตุให้มีโอกาสผิดพลาดในการประกอบวิชาชีพมากขึ้นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกความ การควบคุมผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 เป็นเพียงกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ คุณสมบัติและการควบคุมจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพของทนายความตามข้อบังคับว่าด้วยมรรยาททนายความเท่านั้น มาตรการลงโทษทนายความที่ประพฤติผิดมรรยาททนายความตามข้อบังคับดังกล่าวคือ การภาคทัณฑ์หรือห้ามทำการเป็นทนายความมีกำหนดไม่เกินสามปีหรือลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ ซึ่งมีลักษณะเป็นการตัดสิทธิประโยชน์บางประการในการประกอบวิชาชีพทนายความเท่านั้น แต่เมื่อทนายความได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นเนื่องจากการประกอบวิชาชีพ พระราชบัญญัติทนายความดังกล่าวหาได้มีบทบัญญัติที่จะเป็นการชดใช้ค่าเสียหายหรือเป็นการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่ เมื่อพิจารณาจากประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีบทบัญญัติความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย แต่บทบัญญัติดังกล่าวก็เป็นเพียงกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในการลงโทษทางอาญากับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายที่ใช้วิชาชีพในทางก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น โดยไม่มีบทบัญญัติให้ผู้กระทำผิดต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายหรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด นอกจากนี้ การฟ้องคดีละเมิดเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อันเนื่องมาจากความประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดไม่ใช้ความระมัดระวังในการประกอบวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย โจทก์ผู้ได้รับความเสียหายย่อมมีภาระการพิสูจน์ในเหตุดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 84 ซึ่งเป็นความยากลำบากในการพิสูจน์ ประกอบกับในปัจจุบันยังมิได้มีบทบัญญัติของกฎหมายหรือมีข้อบังคับใดที่เป็นการกำหนดมาตรฐานการประกอบวิชาชีพกฎหมาย และแม้โจทก์ผู้ได้รับความเสียหายจะดำเนินการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายตามขั้นตอนกฎหมายแล้ว หากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชดใช้ค่าเสียหายแล้ว โจทก์ก็จะไม่ได้รับการชดใช้ค่าเสียหายอยู่ดี เนื่องจากในปัจจุบันประชาชนเข้าใจถึงสิทธิของตนเองมากขึ้น ดังนั้น เมื่อตนได้รับความเสียหายอันเกิดจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย โอกาสที่จะมีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายย่อมมีความเป็นไปได้มากเช่นเดียวกับวิชาชีพแพทย์หรือวิชาชีพวิศวกรรม ในต่างประเทศพบว่า บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นจำนวนมาก ในอนาคตต่อจากนี้ไป ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในประเทศไทยก็จะเป็นอีกวิชาชีพหนึ่งที่มีโอกาสถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากการใช้วิชาชีพด้วยเช่นกัน ดังนั้น เพื่อช่วยให้ผู้ได้รับความเสียหายได้รับการชดใช้เยียวยาความเสียหายจากการทำละเมิดของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย และขณะเดียวกันก็เป็นการลดภาระความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย มาตรการหนึ่งซึ่งสามารถนำมาใช้บรรเทาความเสียหายแก่ผู้ได้รับความเสียหายและลดความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมาย คือการนำเอาระบบการประกันภัยความรับผิดของผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายมาเป็นมาตรการเสริมเพื่อใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในประเทศไทย โดยศึกษาความเป็นไปได้ในการนำหลักกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยความรับผิดในวิชาชีพของต่างประเทศ และตัวอย่างกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดในวิชาชีพกฎหมายในต่างประเทศรวมตลอดถึงกฎหมายว่าด้วยการประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า หากจะนำระบบการประกันภัยความรับผิดในวิชาชีพกฎหมายมาใช้กับผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายในประเทศไทย กฎหมายว่าด้วยการประกันภัยของไทยเท่าที่มีผลบังคับใช้อยู่ในขณะนี้ จะสามารถนำมาปรับใช้กับระบบการประกันภัยความรับผิดในวิชาชีพกฎหมายในประเทศไทยได้เพียงใด เพื่อให้เกิดประโยชน์และมีผลบังคับใช้ที่เป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/732
Appears in Collections:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.