Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/737
Title: ปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์ในการประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
Authors: เนติธร รัตนสุชานันท์
Keywords: กฎหมายลิขสิทธิ์
ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์
Issue Date: 13-February-2551
Abstract: วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิวัฒนาการ แนวคิด ทฤษฎีเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์การประกอบธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์ วิเคราะห์ปัญหากฎหมายลิขสิทธิ์ในการประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งศึกษากฎหมายแม่แบบว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (The United Nations Commission on International Trade Law - UNCITRAL) และกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้ทราบถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อปรับปรุงกฎหมายกฎหมายลิขสิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป จากการศึกษาพบว่ากฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย (พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537) ยังมีปัญหาทางปฏิบัติอยู่หลายประการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประการแรก ปัญหาเรื่องความรับผิดของผู้ให้บริการออนไลน์ต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ในกรณีที่บุคคลภายนอกผู้ใช้บริการได้ทำละเมิดต่อเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดิจิตอล โดยการเชื่อมต่อเว็บเพจเข้ากับเซิฟเวอร์หรือเว็บไซต์ ที่ผู้ให้บริการออนไลน์ได้จัดเตรียมไว้ให้ ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ไทยมิได้มีบทบัญญัติไว้ ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้รับความคุ้มครองงานวิจัยจึงเสนอให้ปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้ครอบคลุมถึงความรับผิดและข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการออนไลน์ โดยใช้แนวคิดตามกฎหมายการให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์ที่เป็นดิจิตอลของประเทศ สหรัฐอเมริกา (Digital Millennium Copyright Act of 1998 - DMCA) และตามร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. .. ซึ่งกำหนดให้ผู้ให้บริการออนไลน์มีความรับผิดในกรณีที่ได้ทราบหรือควรจะทราบตามสถานการณ์ว่าจะมีผู้กระทำความผิดตามกฎหมายขึ้นบนเว็บไซต์ ประการที่สอง ปัญหาเรื่องการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิ (Right Management Information) และมาตรการทางเทคโนโลยี (Technical Measures) โดยที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในข้อมูลดิจิตอลได้ง่ายและสะดวกขึ้น จึงทำให้เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ต้องหาทางป้องกันมิให้มีการละเมิดหรือเข้าถึงข้อมูลด้วยการบริหารจัดการตามสิทธิของตนโดยไม่มีอำนาจ แต่ก็ยังมีผู้ทำละเมิดด้วย การทำลาย ลบ หรือแก้ไข ข้อมูลการบริหารจัดการสิทธินั้น ทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ นอกจากนั้น กฎหมายลิขสิทธิ์ยังมีปัญหาเรื่องการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยี โดยเหตุที่มีการพยายามเข้าถึงข้อมูลงานอันมีลิขสิทธิ์ด้วยการหลีกเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีที่ทำไว้เพื่อป้องกันการเข้าถึงจึงทำให้เกิดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดิจิตอลได้ แต่เจ้าของงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่อาจเรียกร้องให้ผู้ล่วงละเมิดนั้นรับผิดได้เพราะเหตุที่กฎหมายลิขสิทธิ์มิได้มีข้อกำหนดให้ความคุ้มครองข้อมูลการบริหารจัดการสิทธิและมาตรการทางเทคโนโลยีดังกล่าวไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาช่องว่างของกฎหมายอันเป็นช่องทางให้มีการทำละเมิดขึ้นได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์โดยใช้แนวทางตามที่สนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์โลก (WIPO Copyright Treaty Act 1996 - WCT) ได้บัญญัติไว้โดยให้การรับรอง “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” และ “มาตรการทางเทคโนโลยี” และตามร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ... ที่บัญญัติไว้ทำนองเดียวกัน ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์และเพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ทางธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ประการที่สาม ปัญหาเรื่องประเภทของงานอันมีลิขสิทธิ์ในรูปดิจิตอล โดยเฉพาะในเรื่องกระบวนการจัดตั้งเว็บไซต์ด้วยการทำไฮเปอร์ลิงค์ (Hyperlink) เพื่อให้มีการเชื่อมต่อข้อมูลหรืองานดิจิตอลบนอินเตอร์เน็ตรวมทั้งการจัดเนื้อหา (Content) การรูปแบบ (Framing) และการอัพโหลด ข้อมูลลงบนโฮมเพจ (Upload homepage) ด้วยอีกทั้งงานนาฎกรรมซึ่งสร้างขึ้นโดยเครื่องคอมพิวเตอร์เอง (Computer – Dramatic work) ก็ล้วนแต่เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมายที่ยังมีช่องว่างในส่วนของการให้ความคุ้มครอง นอกจากนั้นยังมีปัญหาในเรื่องการบันทึกหรือ ดาวน์โหลดงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรีกรรม หรืองานนิพนธ์อื่นๆ รวมทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ซึ่งสามารถทำได้โดยอย่างรวดเร็ว และทำให้งานอันมีลิขสิทธิ์ที่เผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ตนั้น มีความเสี่ยงต่อการถูกบันทึกโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ใช้เทคโนโลยี่ระบบที่อนุญาตให้ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนไฟล์ระหว่างกันได้ (Peer to peer file sharing) จึงทำให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมายตามแนวทางของสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายลิขสิทธิ์โลก และตามร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.... ซึ่งกำหนดให้ขยายความคุ้มครองเพิ่มแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ ต่อสาธารณะ (Right of communication to the public) และห้ามมิให้มีการอัพโหลดข้อมูลของตนอันอาจนำไปสู่การดาวน์โหลดแล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะต่อไปได้ อีกทั้งให้การรับรองสิทธิในการทำซ้ำ (Right of Reproduction ) ให้ครอบคลุมถึงการทำซ้ำด้วยวิธีการใด (Any Manner or Form) หรือทำซ้ำชั่วคราว (Temporary Copy) ซึ่งรวมถึงการทำซ้ำในระบบเครือข่าย (LAN) ด้วย ประการสุดท้าย ปัญหากฎหมายในส่วนที่เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กล่าวได้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นส่วนประกอบอันสำคัญในระบบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ว่าจะเป็นการส่ง การรับข้อมูล รวมถึงการจัดระบบข้อมูล และการใช้บริการต่างๆ แต่กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ครอบคุมถึงขั้นตอน กรรมวิธี หรือระบบ วิธีใช้ และไม่คลุมถึงแนวความคิด หลักการ หรือการค้นพบ ผู้วิจัยจึงเห็นควรให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ควรอยู่ในความคุ้มครองของกฎหมายสิทธิบัตรการประดิษฐ์อย่างเดียว และให้ขาดจากความคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ ทั้งนี้เพื่อให้มีความคุ้มครองแนวความคิดและขั้นตอนต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ งานวิจัยเสนอแนะให้การร่างกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อปรับปรุงให้ทันสมัยเพียงพอต่อความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์นั้น ควรต้องคำนึงถึงหลักการร่วมกันที่สำคัญอยู่สามประการคือ ต้องทำให้กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ก่อให้เกิดช่องว่างของการได้รับผลกระทบระหว่างประเทศอุตสาหกรรมและประเทศกำลังพัฒนา ต้องทำให้มีการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้เป็นตัวแปรสำคัญในการพัฒนาสังคมเทคโนโลยีสารสนเทศและเครือข่ายอินเตอร์เน็ต และต้องพิจารณาให้รอบคอบถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้สร้างสรรค์งานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้ที่จะเข้าถึงข้อมูลและประโยชน์สาธารณะของสังคม
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/737
Appears in Collections:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.