Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7607
Title: ปัญหากฎหมายที่ตราโดยคณะปฏิวัติเปรียบเทียบกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา
Authors: อดุลย์ ทานาราช
Keywords: ปฏิวัติ
รัฐสภา
กฎหมาย
Issue Date: 2553
Abstract: กฎหมายเป็นบทบัญญัติซึ่งผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศได้ตราขึ้นไว้ เพื่อใช้ในการบริหารการบ้านการเมือง และบังคับบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกัน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องได้รับโทษหรือต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดแบบแผนความประพฤติของมนุษย์ในสังคมและเป็นหลักในการปกครองบ้านเมือง ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแต่เริ่มต้นว่า “กฎหมาย” ต้องเป็นสิ่งที่เปิดเผยให้ทุกคนรู้ นอกจากนั้นกฎหมายยังเป็นสิ่งที่นำมาพิเคราะห์พิจารณาและศึกษาด้วยเหตุผลได้ เนื่องจากกฎหมายเป็นศาสตร์แห่งบรรทัดฐาน (normative science) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ทุกคนยอมรับและประพฤติปฏิบัติตาม และในช่วง 77 ปีของประวัติศาสตร์การเมืองของไทย มีการปฏิวัติและตรากฎหมายมาบังคับใช้เป็นจำนวนมากทั้งกฎหมายที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม โดยรัฐบาลพลเรือน และรัฐบาลทหาร ลักษณะของกฎหมายที่ไม่เป็นะรรมนั้นก็มีอยู่หลายประการ นับตั้งแต่การบัญยัติตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาพิพากษาปรปักษ์ทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังต่อบุคคล การตัดรอนสิทธิเสรีภาพของจำเลยในการตั้งทนายขึ้นต่อสู้คดี รวมทั้งการตัดสิทธิในการอุทธรณ์ฎีกา การตรากฎหมายมอบอำนาจตุลาการหรือนิติบัญญัติแก่ฝ่ายบริหาร เปิดช่องให้มีการจับกุมคุมขังหรือเนรเทศโดยพลการ การตรากฎหมายให้อำนาจสูงสุดแก่นายกรัฐมนตรีในการลงโทษบุคคลโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม การริดลอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพิมพ์หรือการโฆษณา การจำกัดเสรีภาพด้านแรงงาน รวมทั้งการออกกฎหมายต่อต้านการกระทำอันเป้นคอมมิวนิสต์ในการต่อสู้หรือวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมเหล่านั้น จากการศึกษาทำให้ทราบว่ากฎหมายที่ใช้ในการปกครองประชาชนในรัฐหรือประเทศนั้นโดยทั่วไปแล้วจะมี 2 ลักษณะคือ ลักษณะที่เป็น will กฎหมายที่เกิดขึ้นจากความต้องการของผู้ปกครองเพียงคนเดียวหรือกลุ่มเดียว กับ general will กฎหมายที่เกิดขึ้นจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชน กฎหมายที่มีลักษณะเป็น will รัฐาธิปัตย์ได้อำนาจมาโดยการใช้กำลังหรืออาวุธเข้ายึดเอา กฎหมายออกได้ทันที ลงนามโดยหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นกฎหมายที่ออกตามอำเภอใจ เปลี่ยนแปลงง่ายตามความต้องการของผู้ออก ขาดความเป็นธรรม เอาแต่ผลประโยชน์ตนฝ่ายเดียว ไม่คำนึงถึงประโยชน์คนส่วนรวมหรือประโยชน์ของประชาชน ไม่เคารพหลักประชาธิปไตย ไม่เคารพหลักนิติรัฐ ส่วนกฎหมายที่มีลักษณะเป็น general will นั้น รัฐาธิปัตย์ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้งของประชาชน กฎหมายผ่านกระบวนการนิติบัญญัติในระบบรัฐสภา โดยพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย อำนาจจึงเป็นของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชน ซึ่งมีความแตกต่างกับพระปรมาภิไธยในประกาศหรือคำสั่งของคณะปฏิวัติ เพราะเหตุที่ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศหรือคำสั่งนั้นเป็นไปตามเจตจำนงของคณะผู้ก่อการที่จะยืนยันเจตนารมณ์ของตนว่าถึงแม้จะได้ทำการยึดอำนาจรัฐไว้ได้เป็นผลสำเร็จและเปลี่ยนแปลงการปกครอง ก็ยังคงดำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อให้กฎหมายที่ใช้ในการปกครองประเทศเกิดจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชนจึงมีข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนต้องไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่คณะปฏิวัติ องค์กรต่าง ๆ ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องมีความเป็นอิสระและแยกออกจากกันโดยเด็ดขาด องค์กรตุลาการที่เป็นหนึ่งในสามองค์กรซึ่งถือว่าเป็นตัวแทนของประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นองค์กรเดียวที่ยังคงอยู่หลังการฏิวัติต้องมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำปฏิวัติ เพื่อให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการผิดกฎหมายและต้องได้รับการลงโทษ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนไม่ควรนำกฎหมายที่ออกโดยคณะปฏิวัติมาใช้ในการบริหารประเทศ ไม่ว่ากฎหมายนั้นจะเกิดประโยชน์มากน้อยเพียงใดก็ตามเพราะถือว่ากฎหมายดังกล่าวไม่ได้เกิดจากเจตจำนงร่วมกันของประชาชน คณะปฏิวัติไม่ควรนำคำสั่งหรือประกาศขึ้นทูลเกล้าฯ พระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเหมือนกับกฎหมายที่ตราโดยรัฐสภา
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7607
Appears in Collections:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
อดุลย์ ทานาราช.pdf230.19 kBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.