Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/781
Title: ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารภาษีอากรที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเอง
Authors: พันธุ์ศักดิ์, เกตุวัตถา
Keywords: ภาษีอากร
กฎหมาย
องค์การบริหารส่วนจังหวัด
Issue Date: 16-February-2551
Abstract: การบริหารภาษีอากรที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเอง เป็นมาตรการสำคัญในการเพิ่มรายได้ให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอต่อการจัดระบบบริการสาธารณะแก่ประชาชนในเขตจังหวัด ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546 การศึกษาปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารภาษีอากรที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสำคัญของปัญหาการจัดเก็บภาษีอากรองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่เกิดขึ้นและมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อศึกษาความหมายและหลักการของภาษีอากร และวิวัฒนาการของการจัดเก็บภาษีอากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อศึกษาหลักเกณฑ์ทางกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเก็บเองที่นำมาใช้บังคับและควบคุมปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อศึกษามาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการจัดเก็บภาษีอากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และเพื่อเสนอแนวคิวในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสมกับการจัดเก็บภาษีอากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัด การศึกษาวิจัยเรื่องนี้เป็นการศึกษาวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยการศึกษาเอกสาร (Documentary Research) ที่เป็นงานวิชาการและงานวิจัยเกี่ยวข้องกับแนวคิดในเรื่องการจัดเก็บภาษีอากร และการตรวจสอบกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่งและมติคณะรัฐมนตรีและหนังสือสั่งการต่างๆ การวิจัยภาคสนาม (Field Research) การศึกษาวิจัยจากข้อมูลที่ได้รับจากการตอบแบบสอบถามของกลุ่มผู้เสียภาษีอากร ประชาชน ข้าราชการและกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น จำนวน 351 ตัวอย่าง ผลจากการศึกษาพบว่า การให้องค์การบริการส่วนจังหวัดจัดเก็บภาษีอากรเพิ่มในแต่ละจังหวัดโดยอิสระ เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ การที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดต่างๆ มีอำนาจออกข้อบัญญัติได้เองและดำเนินการไม่พร้อมกันทั่วประเทศ การแทรกแซงทางการเมือง แหล่งกำเนิดภาษีที่เป็นทรัพย์ที่เคลื่อนย้ายได้ การเป็นองค์กรทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนจังหวัด และการไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ล้วนเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดเก็บภาษีอากรและมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีอากรขององค์การบริหารส่วนจังหวัด นอกจากนั้น ยังพบว่า การจัดเก็บภาษีอากรยังเก็บได้จำนวนน้อยมากไม่เพียงพอที่จะให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดเอามาเป็นรายได้ เพื่อแก้ปัญหาที่พบจากการศึกษา ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะคือ ควรแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2546 ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจในการออกข้อบัญญัติเพื่อจัดเก็บภาษีบุหรี่และภาษีน้ำมันตามมาตรา 64 และค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมตามมาตรา 65 โดยยกเลิกอำนาจการออกข้อบัญญัติในส่วนนี้ และให้ส่วนกลาง (รัฐ) เป็นผู้ออกกฎหมายแทนโดยออกเป็นพระราชบัญญัติเพื่อบังคับใช้พร้อมกันทั่วประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะเช่นเดียวกับพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ และควรให้มีกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินงานการจัดเก็บภาษีอากรที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดจัดเก็บเอง ซึ่งจะทำให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพมากขึ้น และควรเน้นการประชาสัมพันธ์การจัดเก็บภาษีอากรให้ประชาชนได้ทราบเกี่ยวกับความจำเป็นที่ต้องจัดเก็บภาษีอากรและการนำเงินภาษีอากรไปใช้พัฒนาในเขตจังหวัดให้มากขึ้น รวมทั้งให้ทราบถึงกระบวนการการตรวจสอบการใช้งบประมาณของทางราชการ
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/781
Appears in Collections:สารนิพนธ์



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.