Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/784
Title: ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต
Authors: โชฎึก, โชติกำจร
Keywords: กฎหมาย
บัตรเครดิต
Issue Date: 16-February-2551
Abstract: การประกอบธุรกิจบัตรเครดิตในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีบทบัญญัติกฎหมายออกมาใช้บังคับเป็นการเฉพาะ ไม่มีหน่วยงานของรัฐเข้ามารับผิดชอบในการควบคุมดูแลอย่างชัดเจน เป็นผลให้ผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้สามารถดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตได้อย่างเสรี ซึ่งการประกอบธุรกิจบัตรเครดิตเป็นการประกอบธุรกิจในด้านสินเชื่อที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและมีความสำคัญต่อสังคมของประเทศ ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้บริการบัตรเครดิต รวมทั้งกำหนดเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ แต่พบว่ายังไม่มีสภาพบังคับทำให้ผู้ประกอบธุรกิจทางด้านบัตรเครดิตบางราย ไม่ปฏิบัติตาม ก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากไม่มีกฎหมายหรือ องค์กรเฉพาะขึ้นมาควบคุมให้เป็นไปในแนวทางหรือบรรทัดฐานเดียวกันหรือให้มีมาตรฐานเดียวกัน ย่อมก่อให้เกิดปัญหาทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม จึงก่อให้เกิดปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการใช้และการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต จากการศึกษาสามารถสรุปปัญหาได้ดังนี้ 1. ปัญหาอันเกิดจากการการขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตที่ขาดมาตรการควบคุม 2. ปัญหาเกี่ยวกับการเรียกผลตอบแทนสูงเกินสมควร และการคิดดอกเบี้ยค้างชำระ เบี้ยปรับ ค่าบริการ ค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่มีความซ้ำซ้อน ในสัญญาบัตรเครดิต 3. ปัญหาเกี่ยวกับข้อจำกัดทางกฎหมายที่บังคับใช้ในปัจจุบัน กับช่องทางหลีกเลี่ยงของผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตต่อการคุ้มครองผู้บริโภคบัตรเครดิต 4. ปัญหาเกี่ยวกับสถานะทางกฎหมายของสัญญาบัตรเครดิตและการนำหลักกฎหมายมาปรับและบังคับใช้กับสัญญาบัตรเครดิตยังไม่มีความชัดเจนแน่นอน 5. ปัญหาเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายต่อการให้ความคุ้มครองผู้ใช้บัตรเครดิต 6. ปัญหาเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตที่ขาดการควบคุม จากการศึกษาปัญหาดังกล่าวพบว่ามาตรการทางกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมและยังไม่เพียงพอที่จะให้ความคุ้มครองผู้ใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกันในการแข่งขัน ผู้เขียนจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะขึ้นมาบังคับใช้กับบัตรเครดิตโดยตรง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการใช้โดยมีเนื้อหาสาระทั้งหมดอยู่ในกฎหมายฉบับเดียวกันที่มีเนื้อหาสาระสำคัญดังต่อไปนี้ 1. เพื่อให้มีเจ้าภาพรับผิดชอบเกี่ยวกับงานบัตรเครดิต จึงต้องมีองค์กรหรือหน่วยงานทางภาครัฐเข้ามาควบคุมดูแลการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตให้ชัดเจน โดยให้มีกฎหมายรองรับถึงอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังกล่าว โดยให้มีอำนาจควบคุมดูแลผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ทั้งที่เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายและผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่เป็นบริษัทหรือห้างร้านต่างๆ โดยให้อยู่ภายใต้อำนาจและกฎหมายเดียวกัน 2. ต้องบัญญัติกฎหมายเกี่ยวธุรกิจบัตรเครดิตขึ้นมาเป็นกฎหมายเฉพาะเพื่อมาควบคุมและบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ทั้งนี้โดยอาจเป็นการบัญญัติไว้เป็นเอกเทศสัญญาลักษณะหนึ่ง ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือตราขึ้นมาใหม่เป็นพระราชบัญญัติบัตรเครดิต เพื่อให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรม โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่จำเป็นดังต่อไปนี้ 2.1 ควรมีบทบัญญัติที่กำหนดในเรื่องรูปแบบของข้อตกลงการใช้บัตรเครดิตที่ต้องมีมาตรฐานและเป็นธรรม บัญญัติถึงสิทธิหน้าที่ความรับผิดของคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลา การฟ้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องตามสัญญาบัตรเครดิต 2.2 บัญญัติถึงข้อกำหนดในเรื่องการคิดดอกเบี้ย เบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียม ตามความเป็นจริงที่มีอยู่ในปัจจุบัน รูปแบบการเรียกดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม โดยสมควรต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ย ค่าปรับ ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ เมื่อรวมคำนวณแล้วต้องไม่เกินจำนวนที่กำหนดซึ่งจำนวนเท่าใดนั้นให้ถือปฏิบัติเป็นอัตราเดียวกัน อันจะทำให้ผู้ออกบัตรไม่สามารถแสวงหาประโยชน์จากผู้ถือบัตรได้อีกต่อไป
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/784
Appears in Collections:สารนิพนธ์



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.