ปกาศิต เจิมรอด2552-09-102552-09-102552-09-10https://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1573วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาถึงปัญหาทางกฎหมายในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ อันเนื่องมาจากพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ได้ใช้บังคับเป็นเวลานานแล้ว การจัดเก็บภาษีตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับการประเมินภาษีตามกฎหมายทั้งสองฉบับไม่สอดคล้องกัน เนื่องจากภาษีโรงเรือนและที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน คิดคำนวณจากค่ารายปีของโรงเรือน ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ตามกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่คิดคำนวณจากราคาปานกลางของที่ดิน ตามกฎหมายว่าด้วยการกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ ตลอดจนขั้นตอนการดำเนินการและปฏิบัติการในเรื่องต่างๆ ยังแตกต่างกัน จึงสมควรศึกษามาตรการทางกฎหมายเกี่ยวกับภาษีทรัพย์สินของต่างประเทศเปรียบเทียบกับประเทศไทยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เพื่อเป็นแนวทางในการออกกฎหมาย และแก้ไขกฎหมาย ว่าด้วยภาษีทรัพย์สินของประเทศไทยต่อไป จากการศึกษาพบว่าการจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ยังไม่มีความเหมาะสม และเป็นธรรมตามสภาพและทำเลของที่ดินในแต่ละแห่ง เพราะบทบัญญัติในส่วนของหลักเกณฑ์การประเมินราคาที่ดิน โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอื่นของกฎหมายทั้งสองฉบับนั้นยังไม่มีความชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้ดุลพินิจในการประเมินโดยกฎหมายมิได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่แน่นอนไว้ อีกทั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ประเมินส่วนใหญ่เป็นผู้ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการประเมินราคาทรัพย์สินซึ่งถือเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง จึงจำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลทางด้านการประเมินราคาทรัพย์สินโดยตรง ทั้งยังขาดเครื่องมือในการประเมินราคาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้มูลค่าทรัพย์สินที่ใช้เป็นฐานภาษีน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริง และไม่เป็นการสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ปัจจุบันมีการยกร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... โดยรวมภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีเดียวกัน โดยประเมินฐานภาษีจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างแทน จากข้อค้นพบดังกล่าว ผู้เขียนจึงเสนอแนะให้ยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 โดยให้ใช้ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน อีกทั้งในภายภาคหน้าควรมีกฎหมายว่าด้วยการประเมินอสังหาริมทรัพย์ โดยจัดตั้งสำนักงานกลางประเมินราคาทรัพย์สิน (Valuation Department) มีหน้าที่ในการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ ของภาครัฐและควบการประกอบวิชาชีพการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน รวมทั้งการจัดทำระบบฐานข้อมูลการประเมินมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ด้วยปัญหากฎหมายการจัดเก็บภาษีภาษีโรงเรือนที่ดินภาษีบำรุงพื้นที่ปัญหาทางกฎหมายในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่