Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1557
Title: มาตรการทางกฎหมายในการกำกับดูแลการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม
Authors: จุมพล พงศ์ถาวรภิญโญ
Keywords: กฎหมาย
การติดตามทวงถามหนี้
หนี้
Issue Date: 28-August-2552
Abstract: จากการศึกษาถึงปัญหาในการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เป็นธรรมของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า มีลูกหนี้ซึ่งเป็นผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยที่กำลังได้รับความเดือดร้อน จากพฤติกรรมหรือรูปแบบของการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม และกำลังเป็นปัญหาขัดแย้งระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในสังคม ซึ่งหากจะพิจารณาถึงที่มาของปัญหาดังกล่าวแล้วส่วนหนึ่งก็เนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่กำลังประสบภาวะถดถอย ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น เกิดเป็นสภาวะที่ลูกหนี้จำนวนมากไม่สามารถชำระหนี้สินต่างๆ ภายในกำหนดเวลาได้ อันทำให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าหนี้ที่ไม่ได้รับชำระหนี้ จึงทำให้ต้องมีการติดตามทวงถามหนี้กันเกิดขึ้น ทั้งนี้ แม้การติดตามทวงถามหนี้เป็นสิทธิที่ชอบธรรมตามกฎหมาย แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามกฎหมาย มีความเหมาะสมและเป็นธรรมแก่ลูกหนี้ตามสมควรด้วย โดยการติดตามทวงถามหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น คือ การที่เจ้าหนี้มีสิทธิเพียงบอกกล่าวให้ลูกหนี้ดำเนินการชำระหนี้หรือมีสิทธิแจ้งต่อลูกหนี้ว่า หากไม่ชำระหนี้ตามสัญญาก็จะดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป แต่เนื่องจากเจ้าหนี้ส่วนใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงวิธีฟ้องร้องดำเนินคดีเพราะเป็นการเสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย และยังเป็นการทำลายความสัมพันธ์กับลูกหนี้ไปโดยปริยาย เจ้าหนี้จึงเลือกที่จะใช้วิธีการติดตามทวงถามกับตัวลูกหนี้โดยตรง แต่การดำเนินการของบรรดาเจ้าหนี้ต่างๆ ซึ่งในที่นี้จะเน้นถึงผู้ให้สินเชื่อไม่ว่าจะเป็นธนาคาร สถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อ และรวมถึงผู้รับจ้างติดตามทวงถามหนี้ เช่น สำนักงานกฎหมายต่างๆ ได้ใช้วิธีการติดตามทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม มีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของลูกหนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง เช่น การมีเจตนาทำให้ลูกหนี้เสื่อมเสียชื่อเสียงโดยการใช้เอกสารเปิดผนึกในการแจ้งหนี้ การนำเรื่องที่ลูกหนี้เป็นหนี้แล้วไม่ชำระหนี้ไปแจ้งแก่บุคคลภายนอก การข่มขู่คุกคามโดยใช้ถ้อยคำรุนแรง การสร้างความเดือดร้อนรำคาญโดยการใช้โทรศัพท์ติดต่อลูกหนี้ซ้ำซากต่อเนื่องโดยไม่มีเหตุผล หรือในเวลายามวิกาล หรือติดต่อไปยังสถานที่ทำงานของลูกหนี้ ตลอดจนการให้ข้อมูลเท็จอันถือเป็นการหลอกลวงลูกหนี้ เช่น การอ้างว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระหนี้จะถูกยึดทรัพย์ ถูกจับกุม คุมขัง หรือถูกดำเนินคดีอาญา การใช้เอกสารเลียนแบบเอกสารทางราชการหรือศาลโดยพฤติกรรมทั้งหมดนี้ล้วนเข้าข่ายการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตทั้งสิ้น เมื่อได้ศึกษาถึงสภาพปัญหาดังกล่าวแล้วนี้ยังพบว่า มาตรการทางกฎหมายที่มีอยู่ยังไม่สามารถให้ความคุ้มครองลูกหนี้จากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านี้ได้อย่างเพียงพอ โดยหากจะพิจารณาตามหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีเพียงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องละเมิด ส่วนตามกฎหมายอาญา ก็ต้องพิจารณาไปตามองค์ประกอบความผิดฐานต่างๆ เช่น กรรโชกทรัพย์ ฉ้อโกง หมิ่นประมาท เป็นต้น ซึ่งการใช้วิธีการตีความปรับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่มาเทียบเคียงนี้ ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้มากนักและในบางกรณียังปรากฏพฤติกรรมการติดตามทวงถามหนี้ที่ยังไม่ชัดเจนว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายแพ่งหรืออาญาดังกล่าวได้ ยังเป็นช่องว่างของกฎหมายอยู่ ตลอดจนแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ยังขาดสภาพบังคับอย่างจริงจัง จึงทำให้ลูกหนี้ยังถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมอยู่ดี หากพิจารณาจากกฎหมายของต่างประเทศพบว่าในหลายๆ ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ได้มีกฎหมายเฉพาะที่กำหนดวิธีปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้อย่างชัดเจนมานานแล้ว และสามารถใช้เป็นกลไกในการดูแลคุ้มครองลูกหนี้ได้ตามสมควร ผู้เขียนจึงเห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทย ก็ควรที่จะมีกฎหมายในลักษณะเดียวกันนี้เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติของการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัติการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นธรรม พ.ศ. .... ที่กำลังมีความพยายามเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ในปัจจุบัน โดยร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ยกร่างโดยมีต้นแบบมาจาก The Fair Debt Collection Practices Act 1977 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้มีสาระสำคัญในการกำหนดหลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติ ข้อห้ามปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้อย่างเป็นขั้นตอน เช่น มีข้อปฏิบัติให้ผู้ติดตามหนี้ต้องแสดงตนและแสดงเจตนาว่าติดต่อมาเพื่อติดตามทวงถามหนี้ กำหนดให้ติดต่อได้ในเวลาและสถานที่ที่กำหนด ห้ามติดต่อโดยใช้ไปรษณียบัตรหรือโทรสาร ห้ามติดต่อโดยไม่มีเหตุอันควร หรือก่อให้เกิดความรำคาญ ห้ามกระทำการในลักษณะที่เป็นการละเมิด คุกคามลูกหนี้โดยใช้วาจาหรือภาษาดูหมิ่น เสียดสี ห้ามข่มขู่ว่าจะดำเนินการใดๆ โดยไม่มีอำนาจจะกระทำได้ เช่น ข่มขู่ลูกหนี้ว่าจะดำเนินคดี ถูกยึดอายัดเงินเดือน หรือทรัพย์สิน ตลอดจนห้ามแอบอ้างเอกสารใดๆ ที่อาจทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าเป็นการกระทำของศาลหรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็มีบทลงโทษไว้ด้วย อีกทั้ง ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการในการกำกับดูแลการติดตามทวงถามหนี้เพื่อให้ลูกหนี้สามารถร้องเรียนได้อีกด้วย
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1557
Appears in Collections:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
title.pdf29.67 kBAdobe PDFView/Open
abstract.pdf67.58 kBAdobe PDFView/Open
acknow.pdf30.91 kBAdobe PDFView/Open
content.pdf48.78 kBAdobe PDFView/Open
chap1.pdf68.34 kBAdobe PDFView/Open
chap2.pdf140.83 kBAdobe PDFView/Open
chap3.pdf373.93 kBAdobe PDFView/Open
chap4.pdf132.58 kBAdobe PDFView/Open
chap5.pdf89.96 kBAdobe PDFView/Open
bib.pdf65.26 kBAdobe PDFView/Open
profile.pdf28.7 kBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.