Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1794
Title: พัฒนาการ สถานภาพการเรียนการสอนและงานวิจัยนโยบายสาธารณะของไทย
Other Titles: The Development, the Status of Learning and Teaching and the Research of Thai Public Policy
Authors: ปิยากร หวังมหาพร
Keywords: พัฒนาการ
การเรียนการสอน
งานวิจัย
นโยบายสาธารณะไทย
Issue Date: 2553
Abstract: การวิจัยเรื่อง “พัฒนาการ สถานภาพการเรียนการสอนและงานวิจัยนโยบายสาธารณะของไทย” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการการศึกษาวิชานโยบายสาธารณะของไทย เพื่อศึกษาและวิเคราะห์สถานภาพการเรียนการสอนวิชานโยบายสาธารณะของไทย และเพื่อศึกษาและวิเคราะห์งานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะของไทย กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ หลักสูตรรัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก นิสิต/นักศึกษา รัฐศาสตร์บัณฑิต รัฐศาสตรมหาบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยราชภัฎอุตรดิตถ์ และงานวิทยานิพนธ์/สารนิพนธ์/การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองด้านนโยบายสาธารณะระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) ของสถาบันดังกล่าว การวิจัยนี้เป็นการวิจัยแบบผสม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสอบถาม แบบสำรวจ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การตีความและสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ สถิติพื้นฐาน ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการการศึกษาวิชานโยบายสาธารณะ แบ่งออกเป็น 6 ช่วง ได้แก่ 1.ช่วงก่อนพ.ศ. 2500: ช่วงเริ่มก่อตัวของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ 2.ช่วงระหว่างพ.ศ. 2500-2510: กำเนิดสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 3.ช่วงระหว่างพ.ศ. 2511 -2520: ช่วงแตกหน่อของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ 4.ช่วงระหว่างพ.ศ.2521-2530: ยุคหลังสงครามเย็น: การศึกษาวิชา “นโยบายสาธารณะ” และการขยายตัวของรัฐประศาสนศาสตร์โดยมีปริญญาโทนอกเวลา 5.ช่วงระหว่างพ.ศ. 2531-2540: ช่วงเบ่งบานของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์ และ6.ช่วงระหว่างพ.ศ. 2541-ปัจจุบัน (พ.ศ.2552): ช่วงบานสะพรั่งของการศึกษารัฐประศาสนศาสตร์และการขยายตัวของวิชานโยบายสาธารณะสำหรับปัจจัยที่มีผลต่อพัฒนาการได้แก่ ปัจจัยด้านการบริหาร การเมืองและสังคม ผลการศึกษายังพบว่าสถานภาพการเรียนการสอนนโยบายสาธารณะพบในหลักสูตรรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ระดับปริญญาตรีและปริญญาโท การเรียนการสอนมีทั้งภาคปกติและภาคพิเศษ การจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่เป็นปบบสองภาคการศึกษา เรียนวันธรรมดาเวลาทำการ การรับนิสิต/นักศึกษาเข้าศึกษาใช้การสอบข้อเขียนและสอบสัมภาษณ์ นักศึกษาที่เข้าศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่ประกอบอาชีพ ความคิดเห็นของนิสิต/นักศึกษาต่อการเรียนการสอนวิชานโยบายสาธารณะ พบว่า เนื้อหาวิชานโยบายสาธารณะว่ามีความน่าสนใจ ผู้สอนมีความเชี่ยวชาญ การเรียนการสอนส่งเสริมการคิดวิเคราะห์วิจารณ์ การวัดและประเมินผลมีความเป็นธรรม รวมทั้งด้านสื่อการสอนและแหล่งค้นคว้ามีความเพียงพอ ด้านงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะที่นิสิต/นักศึกษาจัดทำส่วนใหญ่เป็นการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองและสารนิพนธ์ จำนวนงานวิจัยมีมากในช่วงพ.ศ. 2546-2550 ส่วนใหญ่พบในสาขารัฐประศาสนศาสตร์ หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต และงานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะปรากฏที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมากที่สุด งานวิจัยด้านนโยบายสาธารณะส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการศึกษาการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัยเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการนำนโยบายไปปฏิบัติ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาคือหน่วยงานราชการ ส่วนใหญ่เป็นการศึกษานโยบายด้านสังคม รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการวิจัย แต่ไม่มีการหาคุณภาพของเครื่องมือ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การตีความ สถิติที่ใช้ในการวิจัยเป็นสถิติเชิงพรรณนาเป็นส่วนใหญ่ ระยะเวลาในการทำวิจัยไม่เกิน 1 ปี
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1794
Appears in Collections:รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
51 ดร.ปิยากร.pdfรายงานวิจัย3.06 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.