Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/6474
Title: ถึงเวลาสร้าง DNA คอนเทนต์ทีวีไทยตีตลาดสากล
Authors: นับทอง ทองใบ
Keywords: ถึงเวลาสร้าง DNA คอนเทนต์ทีวีไทยตีตลาดสากล
Issue Date: 3-May-2562
Publisher: บางกอกทูเดย์
Citation: https://online.fliphtml5.com/zyyv/syhd/#p=35
Abstract: ถึงเวลาสร้าง DNA คอนเทนต์ทีวีไทยตีตลาดสากล โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์นับทอง ทองใบ ในยุคที่เราสามารถเสพสื่ออย่างไร้พรมแดนแบบทุกที่ทุกเวลา นักสร้างสรรค์ “คอนเทนต์” (Content) จึงกลายเป็นยิ่งกว่า King ของธุรกิจข่าวสารและความบันเทิง โดยเฉพาะในแวดวงคนทำทีวีดิจิทัลที่หากต้องการอยู่รอดย่อมต้องหันมาสร้างคอนเทนต์ของตัวเองให้มี DNA ที่แตกต่าง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสากลเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์สู่ตลาดโลก เหมือนเช่นเวิร์คพอยท์ ผู้สร้างคอนเทนต์คุณภาพ ทั้งในรูปแบบรายการ (Format Program) ที่ผู้ได้สิทธิ์สามารถนำไปปรุงใหม่ให้เข้ากับพฤติกรรมและรสนิยมคนดูในประเทศภายใต้คอนเซ็ปต์เดิม และแบบสำเร็จรูป (Finished Program) ที่พร้อมใส่คำบรรยายหรือพากย์เสียงทับเพื่อออกอากาศได้ทันที จนสามารถเข้าชิงรอบสุดท้ายในเวที Emmy Awards ของสหรัฐอเมริกาได้ถึง 5 ครั้ง และขายลิขสิทธิ์รายการสู่ตลาดอเมริกา และยุโรป ที่ถือว่าสุดหินได้สำเร็จ ลักษณะคอนเทนต์ในแบบเวิร์คพอยท์ที่ส่งออกได้เกือบ 30 รายการ ในกว่า 10 ประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในอเมริกาและยุโรปนับเป็นกรณีศึกษาที่ผู้ผลิตรูปแบบรายการโทรทัศน์ที่เป็นสากล (The Global Television Format) ไม่อาจมองข้าม ซึ่งพบว่าหลายๆ รายการของเวิร์คพอยท์ที่สามารถขายลิขสิทธิ์ในตลาดคอนเทนต์โลกนั้นมีจุดร่วมที่น่าสนใจคือ การรู้ทางถนัดของตัวเองแต่ไม่เสี่ยงฉีกกรอบกระแสหลัก (Mass) แค่บิด-แต่ง- กรอบเก่าให้มีแพคเกจจิ้งสวยงาม!! อาจเรียกว่าเป็น “ความสร้างสรรค์ที่ไม่สุ่มเสี่ยง” เหมือนเช่นรายการไมค์หมดหนี้ ซึ่งยังคงกระแสรูปแบบรายการ “แข่งร้องเพลง” ที่แรงไม่ตกตลอดสิบปีในแวดวงทีวี แต่เลือกหยิบปัญหา “เป็นหนี้” ซึ่งเป็นเรื่อง “สากล” ของคนทั้งโลก มาผูกเข้าด้วยกันจนกลายเป็นรายการใหม่ที่ยังคงรูปแบบรายการสุดคลาสสิกอย่างการร้องเพลงผูกเข้ากับความดราม่าจากปมปัญหาหนี้สินที่แก้ไม่ตกจนกลายเป็นรายการที่เข้าไปนั่งในใจผู้ชมได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียที่มีพื้นฐานการเสพเรื่องที่เน้นอารมณ์ (Emotional) เป็นหลัก ขณะเดียวกันแม้จะสุ่มเสี่ยงกับคอนเทนต์ที่อาจไม่ตอบสนองกลุ่มเป้าหมายกระแสหลัก (แต่ก็เป็นวัฒนธรรมย่อยที่เริ่มเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรมกลุ่มใหญ่) อย่างรายการประชันเพลงแร็พ ใน The Rapper เวิร์คพอยท์ก็ยังคงเลือกที่จะคงความถนัดของการทำโชว์แบบแข่งขัน ที่ไม่ได้มุ่งไปที่ความเข้มข้นของ “การแข่งขัน” ชิงรางวัลเป็นหลัก แต่กลับปรุงรสให้ความดิบโหดแบบแร็พใต้ดินเข้าถึงคนวงกว้างมากขึ้นโดยเติมอารมณ์ ความสนุก และเสียงหัวเราะจากกรรมการ เหมือนเช่น The Mask Singer (ที่แม้จะซื้อลิขสิทธิ์จากเกาหลีแต่ก็ปรุงรสให้เข้ากับการชื่นชอบเรื่องตลกแบบไทยๆ ) การสร้าง DNA แบบเวิร์คพอยท์ จึงเป็นตัวอย่างของนักสร้างสรรค์ทีวีคอนเทนต์ที่ รู้จักตัวเองดี (รู้ว่าถนัดทำรายการแข่งขัน วาไรตี้) รู้กระแสและปมปัญหาลึกๆ ของโลก (เช่น Insight เรื่องหนี้) ที่สำคัญคือ รู้จักบริบท วัฒนธรรม และรสนิยมของผู้ชม (เสพสื่อแบบไทยๆ ต้องปรุงรสให้แนว Emotional โดย เฉพาะดราม่า กับ ตลก) เมื่อคลุกเคล้าความ “รู้” ทั้ง 3 สิ่งนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่ทำให้ DNA แบบ “เวิร์คพอยท์” โดดเด่นจนนั่งแท่นเบอร์ 1 ทีวีคอนเทนต์ครีเอเตอร์ของไทย และสามารถยืดอกในตลาดทีวีคอนเทนต์สากลได้อย่างภาคภูมิ!
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/6474
Appears in Collections:CMU-04. บทความที่ประชุมวิชาการ (ระดับนานาชาติ)



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.