Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1329
Title: การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์กับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ของผู้ชมภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพมหานคร
Other Titles: A Study of the Relationship between Movie Viewing Behaviors of Bangkok Movie Viewers and their Opinion on Movie Ratings
Authors: อิทธิพล วรานุศุภากุล
Keywords: การจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์
ระบบการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์
การจัดประเภทภาพยนตร์
Issue Date: 2551
Abstract: การวิจัยเรื่อง “การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์กับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ของผู้ชมภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพมหานคร” มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย เพื่อศึกษาถึงลักษณะทางประชากรศาสตร์ และพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ของผู้ชมภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพมหานคร และศึกษาถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ นอกจากนั้น ยังศึกษาถึง ความสัมพันธ์ของลักษณะทางประชากรศาสตร์ของผู้ชมภาพยนตร์ กับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ และความสัมพันธ์ของพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ของผู้ชมภาพยนตร์ กับความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ การวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) แบบการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multistage Sampling) โดยมีกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ชมภาพยนตร์ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 คน และใช้แบบสอบถามแบบผู้ตอบกรอกแบบสอบถามเอง เมื่อได้ข้อมูลตามที่กำหนด จึงนำมาดำเนินการทางสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลโดยมีการใช้สถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เพื่ออธิบายข้อมูลเบื้องต้นของกลุ่มตัวอย่าง และใช้สถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics) ได้แก่ Chi-Square Test, t-test, F-test, Brown-Forsythe, LSD และ Tamhane's T2 เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ จากการศึกษาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 58.8 ในขณะที่อายุของผู้ตอบแบบสอบถามค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยมีอายุตั้งแต่ 15 ปี ถึง 20 ปีบริบูรณ์ ร้อยละ 22.5 รองลงมา มีอายุตั้งแต่ 25 ปี ถึง 30 ปีบริบูรณ์ ร้อยละ 21 และ มีอายุตั้งแต่ 20 ปี ถึง 25 ปีบริบูรณ์ ร้อยละ 20 ระดับการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.3 มีอาชีพเป็น ลูกจ้าง/พนักงานบริษัท ร้อยละ 35 โดยมีรายได้ครอบครัวอยู่ในช่วง เดือนละ 10,001-25,000 บาท มากที่สุด ร้อยละ 51.7 สำหรับสถานะสมรสของผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 70.8 เป็นโสด ผลจากการวิจัยพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76 เคยศึกษาข้อมูลของภาพยนตร์ก่อนการรับชมภาพยนตร์ โดยไปชมภาพยนตร์ที่โรงภาพยนตร์เครือเมเจอร์มากที่สุด ร้อยละ 55.5 และไปรับชมภาพยนตร์กับเพื่อนถึงร้อยละ 38.3 โดยส่วนใหญ่ ร้อยละ 51 รับชมภาพยนตร์ เดือนละ 1-2 เรื่อง และ ร้อยละ 19 ไปชมภาพยนตร์ในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.01-15.00 น. ส่วนใหญ่รับชมภาพยนตร์ประเภท ตลก ขบขัน มากที่สุด คือ ร้อยละ 35.3 และชอบภาพยนตร์ที่ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกาถึง ร้อยละ 53 นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 48.5 รับชมภาพยนตร์เพื่อความบันเทิง ร้อยละ 45.8 ชมภาพยนตร์ที่เข้าฉายมาแล้ว 1-2 สัปดาห์ และ ร้อยละ 86.5 ซื้อตั๋วเข้าชมภาพยนตร์ ณ ช่องจำหน่ายตั๋ว ในวันที่ชมภาพยนตร์ ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ ร้อยละ 43.5 มีความคิดเห็นว่า ควรใช้สัญลักษณ์ที่เป็นการผสมระหว่างพยัญชนะไทย และตัวเลข นอกจากนั้น ร้อยละ 24.8 เห็นว่าควรให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากว่า ประเภทภาพยนตร์ควรแบ่งออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ ภาพยนตร์ทั่วไป, ภาพยนตร์ที่ผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ผู้ปกครองควรแนะนำ, ภาพยนตร์ที่ผู้ชมที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องมีผู้ปกครองเข้าชมด้วย, ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้ชมภาพยนตร์ต่ำกว่า 18 ปีเข้าชม, และ ภาพยนตร์ที่ห้ามฉาย ส่วนเกณฑ์การพิจารณาภาพยนตร์ ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากที่สุดว่า ควรใช้เกณฑ์ ความรุนแรง / อาชญากรรม, โป๊ / เปลือย / อนาจาร, และ การใช้ยาเสพติด ในการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ สำหรับระบบการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากว่า ควรมีหน่วยงานรับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งใช้รูปแบบคณะกรรมการในการพิจารณา จำนวน 5-7 คน มีความหลายหลายจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามยังเห็นด้วยมากว่า คณะกรรมการควรมีมากกว่า 1 ชุด และสามารถทำงานได้อย่างเต็มเวลา ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นด้วยมากว่า กระบวนการพิจารณาจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์ควรเริ่มจากการยื่นคำร้องขอพิจารณาภาพยนตร์พร้อมระบุระดับภาพยนตร์ที่ต้องการ คณะกรรมการจะร่วมรับชมภาพยนตร์ พร้อมกัน อภิปรายถึงประเด็นต่างๆ ในการจัดแบ่ง แล้วจึงใช้มติเสียงข้างมากในการกำหนดระดับ ถ้าระดับที่พิจารณาไม่ตรงกับระดับที่ผู้ยื่นคำร้องระบุ ผู้ยื่นคำร้องสามารถชี้แจ้งเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการได้ หลังจากนั้น คณะกรรมการจะประกาศระดับ พร้อมเหตุผล ซึ่งผู้ยื่นคำร้องสามารถยื่นอุทธรณ์ หรือยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงระดับ หรือ ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ได้ สำหรับการทดสอบสมมติฐานเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ จากระดับนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 พบว่า อายุที่แตกต่างกัน มีผลทำให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์แตกต่างกัน ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีลักษณะทางประชากรศาสตรที่แตกต่างกัน ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ครอบครัว และสถานะสมรส มีผลทำให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่ใช้ในการจัดแบ่งแตกต่างกัน ในส่วนของพฤติกรรมการชมภาพยนตร์ บุคคลที่ผู้ตอบแบบสอบถามรับชมภาพยนตร์ด้วย มีผลทำให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการจัดระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์แตกต่างกัน ได้แก่ ประเภทภาพยนตร์ตามระดับอายุของผู้ชมภาพยนตร์, เกณฑ์การพิจารณาที่ควรใช้ในการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์, ระบบของการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์, คณะกรรมการพิจารณาการจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์, ขั้นตอนที่ควรอยู่ในกระบวนการพิจารณาจัดแบ่งระดับอายุผู้ชมภาพยนตร์
Description: ได้รับทุนอุดหนุนงานวิจัยสำหรับบุคลากรภายใน ปีการศึกษา 2549
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/1329
Appears in Collections:รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
49 อ.อิทธิพล.pdfรายงานวิจัย3.45 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.