Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/2083
Title: แนวโน้มของการพัฒนา และการใช้งานกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล(DSLR) ที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ ตั้งแต่ ค.ศ. 2010 – ค.ศ. 2015 กับผลกระทบต่อกระบวนการผลิตสื่อสมัยใหม่
Other Titles: The Development and Usage of Digital Single Lens Reflex Camera (DSLR) with Built-In Video Recorder from the Year 2010 – 2015 A.D. and the Effect on New Media Production Process
Authors: รัฐสภา แก่นแก้ว
Keywords: กล้องถ่ายภาพ
สะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว
วีดิทัศน์
กระบวนการผลิตสื่อ
สื่อใหม่
Issue Date: 2554
Publisher: มหาวิทยาลัยศรีปทุม
Abstract: งานวิจัยเรื่อง แนวโน้มของการพัฒนา และการใช้งานกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว แบบดิจิทัล (DSLR) ที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ ตั้งแต่ ค.ศ. 2010 – ค.ศ. 2015 กับผลกระทบต่อกระบวนการผลิตสื่อสมัยใหม่ เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาพัฒนาการและสภาพปัจจุบันของการใช้งานกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ แนวโน้มของการพัฒนากล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ใน5 ปีข้างหน้า (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ถึง ค.ศ. 2015) ตลอดจนศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตสื่อสมัยใหม่ (New Media) อันเป็นผลมาจากการพัฒนากล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว แบบดิจิทัล (DSLR) ที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ ผลการวิจัยพบว่า เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการวิจัยของงานวิจัยนี้ ในปีคริสต์ศักราช 2010 บริษัทผู้ผลิตกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล 5 ตราสินค้า (Brand) ได้แก่ Nikon, Canon, Pentax, Sony และ Olympus ได้พัฒนากล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวชนิดที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ออกมาจำหน่าย กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล (DSLR) ที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ ในระดับความคมชัดสูง รุ่นแรก คือ Nikon D90 ตามด้วย Canon EOS 5D Mark II จากนั้นมีการผลิตกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวชนิดที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ออกมาจำหน่ายอีก 17 รุ่น ได้แก่ Nikon D5000, Nikon D300s, Nikon D3s, Nikon D3100, Nikon D7000, Canon EOS 500D, Canon EOS 7D, Canon EOS 1D MK IV, Canon EOS 550D, Canon EOS 60D, Pentax K-7, Pentax K-x, Pentax K-r, Pentax K-5 ,Sony α55, Sony α33 และ Olympus E-5 รวมทั้งสิ้น 19 รุ่น โดยผลิตภัณฑ์กล้องแต่ละรุ่นสามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้เช่นเดียวกัน แต่มีคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกันในแต่ละรุ่น ในด้านของระบบการบันทึกวีดิทัศน์ กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล (DSLR)ได้รับความนิยมใช้งาน เนื่องจากมีเซนเซอร์รับภาพที่ใหญ่กว่ากล้องโทรทัศน์ทั่วไป ทำให้ไฟล์วีดิทัศน์ที่บันทึกได้มีคุณภาพสูง คมชัด มีประสิทธิภาพการรับภาพในสภาพแสงน้อย ตลอดจนมีความโดดเด่นในเรื่องความสามารถในการรองรับการใช้เลนส์ที่หลากหลาย ส่งผลต่อความชัดลึกที่น้อยกว่า ให้ผลของภาพเคลื่อนไหวที่คล้ายคลึงฟิล์มภาพยนตร์ในต้นทุนที่ถูกกว่า ผลการวิจัยพบว่า ประเภทของงานที่ใช้งานกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล ที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ในปัจจุบัน มีการใช้งานในวงการงานผลิตงานโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และ สื่อใหม่ เช่น งานบันทึกภาพสำหรับมิวสิควีดีโอ งานผลิตวีดิทัศน์สำหรับใช้นำเสนอเรื่องต่างๆงานผลิตชิ้นงานโฆษณาทางโทรทัศน์ และ สารคดีสำหรับออกอากาศทางโทรทัศน์ ละครชุดทางโทรทัศน์ ภาพยนตร์ ภาพยนตร์สั้น และ สื่อใหม่ ปัญหาที่เกิดจากการใช้งานกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลในการบันทึกวีดิทัศน์ในปัจจุบัน พบว่ามีปัญหาในเรื่องของความร้อนของวงจรประมวลผลภาพ โดยกล้องจะหยุดการทำงานโดยอัตโนมัติ เมื่อวงจรประมวลผลของกล้อง มีความร้อนสูงกว่าที่ระบบการทำงานของกล้องจะทำงานได้ นอกจากนี้ยังพบว่า ระยะเวลาในการบันทึกภาพอาจสั้นกว่าที่ระบุไว้ในข้อมูลคุณสมบัติ รวมทั้งมีปัญหาเสียงการปรับความชัดอัตโนมัติของเลนส์เข้าไปบันทึกระหว่างการถ่ายทำ และ การจับถือที่ไม่มั่นคงเมื่อใช้ในการบันทึกวีดิทัศน์ด้วยการใช้มือเปล่า ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า ใน 5 ปีข้างหน้า กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัลที่สามารถบันทึกวีดิทัศน์ได้ จะพัฒนาคุณสมบัติหลักของแต่ละตราสินค้า ในเรื่องของพิกเซล และ เซ็นเซอร์รับภาพที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น สอดคล้องกับขนาดของภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว ที่สามารถบันทึกได้ มีช่วงความไวแสงที่ไวแสงมากขึ้น ระบบปรับความชัดอัตโนมัติที่รวดเร็วกว่าปัจจุบัน ซึ่งจะพัฒนาควบคู่ไปกับจำนวนจุดปรับความชัด ตลอดจนจะมีการพัฒนาระบบการบันทึกเสียงที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น กระบวนการผลิตสื่อใหม่จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไป ขั้นตอนในการจับภาพเข้าสู่ระบบตัดต่อจะลดความสำคัญลง การผลิตผลงานวีดิทัศน์จะใช้ทีมงานที่น้อยลง โดยผู้ผลิตสื่อสามารถสร้างสื่อภาพเคลื่อนไหวความคมชัดสูง ด้วยการบันทึกภาพจากกล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยวแบบดิจิทัล และ ตัดต่อด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัวของตนเองได้ง่ายขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้ห้องตัดต่อ หรือ ใช้บริการบริษัทรับผลิตงานวีดิทัศน์ดังเช่นในอดีต
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/2083
Appears in Collections:รายงานการวิจัยมหาวิทยาลัยศรีปทุม

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
51 อ.รัฐสภา แก่นแก้ว.pdf29.63 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.