กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7584
ชื่อเรื่อง: มาตรการการควบคุมการจำหน่ายสัตว์ป่า
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: ขวัญศรินทร์ วงษ์ลือชัย
คำสำคัญ: มาตรการการควบคุม
การจำหน่ายสัตว์ป่า
วันที่เผยแพร่: 2553
บทคัดย่อ: อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora: CITES) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ไซเตส” มีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อควบคุมการค้าหรือการจำหน่ายระหว่างประเทศ ซึ่งสัตว์ป่าหรือพืชป่าใกล้จะสูญพันธุ์ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศภาคีของอนุสัญญาดังกล่าว มีความผูกพันที่จะต้องดำเนินมาตรการภายในประเทศให้สอดคล้องกับพันธกรณีของอนุสัญญาไซเตส โดยเฉพาะพันธกรณีทางกฎหมายซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาว่า ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการทางกฎหมายเพื่อควบคุมการค้าและการจำหน่ายระหว่างประเทศสอดคล้องตามพันธกรณีของอนุสัญญามากน้อยเพียงใด ซึ่งจากการศึกษาพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่อนุวัติการตามอนุสัญญาไซเตส พบว่า พระราชบัญญัติดังกล่าวยังมีความบกพร่อง และสมควรแก้ไขปรับปรุงอยู่หลายประการ เนื่องจากมิได้นำเอามาตรการทางกฎหมายที่อนุสัญญาไซเตสกำหนดเป็นพันธกรณีให้ประเทศภาคีต้องถือปฏิบัติไว้ทั้งหมด ที่สำคัญคือยังขาดมาตรการควบคุมการค้าหรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส และไม่มีการควบคุมการส่งกลับออกไป และยังขาดมาตรการลงโทษผู้ค้าหรือจำหน่ายที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติของอนุสัญญาไซเตส รวมถึงผู้ครอบครองตัวอย่างพันธุ์ที่ได้มาโดยฝ่าฝืนบทบัญญัติของอนุสัญญาไซเตส ตลอดจนไม่มีมาตรการการริบตัวอย่างพันธุ์ในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาที่บุคคลได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิด กฎหมายฉบับนี้จึงยังไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุมการค้าหรือการจำหน่ายสัตว์ป่าระหว่างประเทศได้อย่างแท้จริง ซึ่งจากการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายหลายประเทศ พบว่ากฎหมายของประเทศเหล่านั้นมีมาตรการต่าง ๆ ครบถ้วนตามพันธกรณีที่อนุสัญญาไซเตสกำหนด นอกจากนั้นจากการศึกษายังพบว่าพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ไม่มีมาตรการคุ้มครองหรือควบคุมสัตว์ป่าในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศอื่น ที่ได้มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบการดำเนินกิจการใด ๆ กับสัตว์ป่าเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการจำหน่าย การครอบครอง หรือการเพาะพันธุ์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการคุ้มครองสัตว์ป่าดังกล่าว ดังนั้น เพื่อให้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มีเนื้อหาที่สอดคล้องตรงตามเจตนารมณ์ของอนุสัญญาไซเตส จึงเสนอแนะให้มีการแก้ไขบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งเพิ่มมาตรการการควบคุมการส่งกลับออกไป และควบคุมการค้าหรือการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส รวมถึงเพื่อให้ศาลมีอำนาจสั่งริบสัตว์ป่า ซากของสัตว์ป่า ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าในบัญชีแนบท้ายอนุสัญญาไซเตส ที่บุคคลได้มาหรือมีไว้เนื่องจากการกระทำความผิด นอกจากนั้นยังเสนอให้เพิ่มเติมหลักการต่าง ๆ ที่ยังไม่มีในพระราชบัญญัติฉบบับนี้
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7584
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
ขวัญศรินทร์ วงษ์ลือชัย.pdf560.72 kBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น