กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7590
ชื่อเรื่อง: ปัญหาและอุปสรรคทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดคำนิยามของสถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: นันทวัฒน์ ทองช่วง
คำสำคัญ: สถานบริการ
คำนิยาม
วันที่เผยแพร่: 2556
บทคัดย่อ: วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดคำนิยามของสถานบริการตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ควบคุมกิจการสถานบริการที่ดำเนินกิจการไปในทางกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน หรือเป็นเหตุให้เยาวชนมั่วสุมประพฤติตัวเสื่อมทราม รวมทั้งเป็นการรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อย ศีลธรรม วัฒนธรรมและประเพณีอันดีของชาติ โดยที่ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้ง มีการแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยาม “สถานบริการ” เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมของประเทศไทยในแต่ละยุคสมัยที่มีการปรับเปลี่ยนค่านิยม วิถีชีวิตตลอดเวลา อีกทั้งมีกระแสวัฒนธรรมจากต่างประเทศทั้งจากในแถบเอเชียและแถบยุโรป รวมทั้งในแถบตะวันตกเข้ามาในประเทศไทย ทำให้ค่านิยม วิถีชีวิตของประชาชนเปลี่ยนไป เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมนิยามความหมายของถ้อยคำดังกล่าวครั้งล่าสุดเมื่อ พ.ศ. 2546 ซึ่งเป็นเวลาล่วงมากว่า 10 ปี ทำให้คำนิยาม “สถานบริการ” ตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 มีความไม่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมสอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน อันส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย จากการศึกษาพบว่าปัจจุบันมีสถานประกอบการจำนวนมากที่ดำเนินกิจการคล้ายสถานบริการ เช่น แพเธค ร้านนวด สปา ร้านจำหน่ายสุรา ลานเบียร์ เทศกาลคอนเสิร์ต เป็นต้น โดยประกอบกิจการในรูปแบบคล้ายสถานบริการแต่มีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยในสังคม รวมทั้งผลกระทบอื่น ๆ เช่นเดียวกับสถานบริการ ซึ่งในบางกรณีเกิดจากผู้ประกอบกิจการเหล่านั้นพยายามอาศัยช่องว่างของกฎหมายอันอาจเกิดจากคำนิยาม “สถานบริการ” ที่ไม่ชัดเจน ไม่ครอบคลุม หรือกรณีการใช้ดุลยพินิจผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน โดยบางส่วนเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงแต่ไม่สามารถขอใบอนุญาตสถานบริการได้เนื่องจากคำนิยาม “สถานบริการ” ไม่ครอบคลุมถึงสถานประกอบการรูปแบบใหม่ ๆ ตามยุคสมัย ซึ่งแม้ในอดีตจะมีการแก้ไขคำนิยาม “สถานบริการ” มาตลอด แต่ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมถึงสถานบริการและกิจการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ รวมทั้งยังมีสถานบริการบางประเภทที่แทบไม่พบในปัจจุบัน เช่น รำวง รองเง็ง นอกจากนี้มีบางกรณีที่บทบัญญัติของกฎหมายกำหนดนิยามคำว่า “สถานบริการ” ไว้ไม่ชัดเจนเพียงพอนังอาจก่อให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ จึงเสนอแนะว่า ควรแก้ไขเพิ่มเติมคำนิยาม “สถานบริการ” เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ค่านิยมของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ชัดเจนอันอาจทำให้เกิดการใช้ดุลยพินิจที่ผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งขาดความเป็นเอกภาพในการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีหลายหน่วยงานเป็นผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่สถานบริการประเภทใดไม่มีในปัจจุบันก็ควรตัดข้อความดังกล่าวในคำนิยามออก ทั้งนี้เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน ค่านิยม วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนบรรลุถึงวัตถุประสงค์ของ พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ. 2509 อย่างแท้จริง
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7590
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:S_CHO-09. วิทยานิพนธ์ปริญญาโท

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม รายละเอียด ขนาดรูปแบบ 
นันทวัฒน์ ทองช่วง.pdf252.42 kBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น