Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7927
Title: ปัญหาทางกฎหมายกรณีใช้สิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกัน ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558
Other Titles: LEGAL PROBLEMS IN USING RIGHT OF CLAIM AS SECURITY IN BUSINESS SECURITY ACT, B.E. 2558
Authors: พิสิฐ ตันติโรจนกิจการ
Keywords: สิทธิเรียกร้อง
หลักประกันทางธุรกิจ
Issue Date: 2565
Publisher: มหาวิทยาลัยศรีปทุม
Citation: พิสิฐ ตันติโรจนกิจการ. 2564. "ปัญหาทางกฎหมายกรณีใช้สิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกัน ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558." สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.
Abstract: พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ของประเทศไทย พัฒนาขึ้นจากระบบการประกันด้วยทรัพย์สินแบบ Floating Charge ของสหราชอาณาจักร และ Uniform Commercial Code (UCC) Article 9 Secured Transactions ของสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ไขข้อจำกัดทรัพย์สินจำนอง การครอบครองทรัพย์จำนำ และประเด็นกฎหมายการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นประกันในทางธุรกิจ การก่อตั้งบุริมสิทธิด้วยวิธีการทำสัญญาตราทรัพย์สินเป็นหลักประกันและจดทะเบียน โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี นับแต่เริ่มจดทะเบียน สิทธิเรียกร้อง เป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนสูงที่สุดถึงร้อยละ 76.84 ของมูลค่าหลักประกันรวม 9.39 ล้านล้านบาท แต่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการนำสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกันกลับมีเพียง 4 มาตรา เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมสิทธิเรียกร้องที่นิยามไว้อย่างกว้างขวาง การศึกษานี้มุ่งศึกษาปัญหาข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติการนำสิทธิเรียกร้องจดทะเบียนเป็นหลักประกัน โดยศึกษาประวัติความเป็นมา แนวคิดและข้ออภิปรายของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ศึกษาเปรียบเทียบหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายต่างประเทศทั้ง UCC Article 9 Secured Transactions และ UNCITRAL Model Law on Secured Transactions พบว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ตัดทอนร่างมาตราที่เกี่ยวข้องกับการนำสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันทั้งการบอกกล่าวและวิธีการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเหตุผิดนัดบังคับหลักประกัน บทบัญญัติขาดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ระหว่างลูกหนี้แห่งสิทธิ ผู้ให้และผู้รับหลักประกัน และไม่มีบทคุ้มครองลูกหนี้แห่งสิทธิดังเช่นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทบัญญัติบังคับหลักประกันสิทธิเรียกร้องมีจำกัดไม่สามารถใช้กับหนี้อื่นที่ไม่ใช่หนี้เงิน ขาดบทบัญญัติกำหนดลำดับการใช้เงินแก่เจ้าหนี้ตามลำดับบุริมสิทธิดังเช่นกรณีทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิในเงินฝาก นอกจากนี้ การนำหลักสุจริตและเสียค่าตอบแทนคุ้มครองบุคคลภายนอกให้ได้ทรัพย์หลักประกันที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีลักษณะหมุนเวียนไปโดยปลอดภาระนั้นยังไม่ลงรอยในหลักกฎหมายเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งปรากฏข้อผิดหลงของบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาแทนหลักประกันเดิม ผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยนำมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศและร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับก่อนหน้ามาแก้ไขปรับปรุง โดยเสนอให้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบอกกล่าวการนำสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกัน และการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนบังคับหลักประกันโดยเทียบเคียงกับการจำนำสิทธิที่มีตราสารและหลักกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองคู่สัญญาหลักประกันและลูกหนี้แห่งสิทธิ เสนอแก้ไขบทบัญญัติการบังคับหลักประกันสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินและหนี้อื่นนอกจากหนี้เงิน ให้สอดคล้องกับการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และเสนอแก้ไขหลักเกณฑ์การได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่ไม่มีลักษณะหมุนเวียนเปลี่ยนมือโดยปลอดภาระหลักประกัน ให้เหลือเพียงหลักความยินยอมของผู้รับหลักประกันประการเดียว เพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมายต่างประเทศ รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติที่ผิดหลง
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/7927
Appears in Collections:LAW-08. ผลงานนักศึกษา



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.