ปัญหาการใช้บังคับกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับการอนุญาต ให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการสนับสนุนหรือ เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน
กำลังโหลด...
วันที่
2561
ผู้เขียน
ชื่อวารสาร
วารสาร ISSN
ชื่อหนังสือ
สำนักพิมพ์
หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เชิงนามธรรม
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์การใช้บังคับกฎหมาย รวมทั้งปัญหาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ที่ดินสำหรับกิจการต่าง ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยศึกษาเปรียบเทียบแนวคิด ทฤษฎี และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
จากการศึกษาและวิเคราะห์พบว่า ในกรณีของการใช้บังคับพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 นั้น ได้วางหลักในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ที่ดินสำหรับกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ รวมทั้งกิจการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งการดำเนินการของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในช่วงที่ผ่านมา มีการนำที่ดินไปใช้กิจการบางประเภทนอกเหนือจากเกษตร ส่งผลให้จำนวนที่ดินที่ใช้ทำการเกษตรมีปริมาณลดลง ซึ่งตามมาตรา 19 (6) (12) และมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 กำหนดให้สามารถทำกิจการอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำการเกษตร แต่กิจการนั้นต้องเป็นกิจการที่สนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับวัตถุประสงค์ของการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งกิจการดังกล่าวได้มีการกำหนดโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) โดยกำหนดเป็นระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณาอนุญาตการใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภค
และกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 ซึ่งได้มีการกำหนดประเภทกิจการไว้ต่าง ๆ มากมาย อีกทั้งยังมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ซึ่งทั้งระเบียบฯ และประกาศข้างต้นได้กำหนดกิจการต่าง ๆ
ไว้หลากหลาย บางกิจการไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรเลย เช่น กังหันลม (Wind wheel)
เสาโทรศัพท์ (Telephone Pole) รวมถึงนำไปก่อสร้างเป็นสถานที่ราชการ (Official Place) ต่าง ๆ
เป็นต้น ส่งผลให้พื้นที่ของสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ได้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์
กับการเกษตรอย่างแท้จริง ซึ่งปัญหาที่กล่าวมาแม้จะมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด แต่หากสามารถรักษาไว้ซึ่งพื้นที่สำหรับทำการเกษตรให้มีปริมาณไม่ลดน้อยถอยลงแล้ว
การดูแลรักษาพื้นที่เพื่อการเกษตรในจุดอื่น ๆ ก็จะเป็นไปได้โดยง่ายตามไปด้วย
เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษาวิเคราะห์ โดยควรแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 16 (9) และ (12) และมาตรา 30 วรรคห้า รวมทั้งปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยการมอบหมายให้เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พิจารณาอนุญาตใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการอื่น ๆ ในเขตปฏิรูปที่ดิน พ.ศ. 2536 และระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตและการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุนหรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541 โดยนำมารวมให้เป็นระเบียบฉบับเดียวกัน พร้อมทั้งปรับปรุงแก้ไขเนื้อความให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
คำอธิบาย
อิฐรัตน์ จันทร์ศรี. ปัญหาการใช้บังคับกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับการอนุญาต ให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการสนับสนุนหรือ เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน. สารนิพนธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม พ.ศ. 2561.
คำหลัก
ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม, การขออนุญาตใช้ที่ดิน, กิจการสาธารณูปโภค, กิจการสนับสนุนการปฏิรูปที่ดิน
การอ้างอิง
อิฐรัตน์ จันทร์ศรี. 2561. "ปัญหาการใช้บังคับกฎหมายปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับการอนุญาต ให้ใช้ที่ดินเพื่อกิจการสาธารณูปโภคและกิจการสนับสนุนหรือ เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน." สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.