ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปีสู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา

เชิงนามธรรม

การวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา 2) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา 3) ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิต่อความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา 4) ศึกษาปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา การวิจัยนี้เป็นการผสมผสานระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการส่งแบบสอบถามไปยังบุคลากรของสถานศึกษาและผู้ปกครองนักเรียน และใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้บริหารสถานศึกษา ผลการวิจัย พบว่า (1) ระดับปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดคือ ปัจจัยด้านนโยบาย รองลง มาคือปัจจัยด้านคุณลักษณะของหน่วยปฏิบัติ และปัจจัยสนับสนุน ตามลำดับ (2) ความสัมพันธ์ระหว่าง ความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา กับปัจจัยนโยบาย ปัจจัยคุณลักษณะและสมรรถนะของหน่วยปฏิบัติ และปัจจัยสนับสนุน พบว่า ปัจจัยด้านวัตถุประสงค์ของนโยบาย ความร่วมมือของบุคลากรระหว่างสถานศึกษาเอกชนกับองค์กรภาครัฐ และทัศนคติของบุคลากรของสถานศึกษาเอกชน มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 กับความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ส่วนปัจจัยด้านมาตรฐานของนโยบาย ความสอดคล้องของการปฏิบัติ โครงสร้างองค์กร งบประมาณ บุคลากร วัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยี ระบบการบริหารจัดการ และสภาพแวดล้อม ความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01กับความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา (3) ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา พบว่า ปัจจัยทั้ง 11 ด้านสามารถพยากรณ์ความสำเร็จของการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติ ได้ร้อยละ 49.1 เรียงลำดับจากมากไปน้อยได้ดังนี้ ด้านงบประมาณ ด้านบุคลากร ด้านสภาพแวดล้อม ด้านระบบการบริหารจัดการ ด้านวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยี ด้านความร่วมมือของบุคลากรระหว่างสถานศึกษาเอกชนกับองค์กรภาครัฐ ด้านทัศนคติของบุคลากร ด้านความสอดคล้องของการปฏิบัติ ด้านวัตถุประสงค์ของนโยบาย ด้านมาตรฐานของนโยบาย และด้านโครงสร้างองค์กร (4) ระดับความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนต่อการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ผู้ปกครองมีความพึงพอใจในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อยได้ดังนี้ ด้านนโยบาย ด้านการบริหารจัดการ ด้านงบประมาณ ด้านบุคลากร และด้าน การประชาสัมพันธ์ (5) ปัญหาเกี่ยวกับการนำนโยบายเรียนฟรี 15 ปี สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา ที่พบมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ (5.1) งบประมาณที่สนับสนุนไม่เพียงพอต่อความจำเป็นใช้จริง (5.2) บุคลากรขาดทักษะและความรู้เกี่ยวกับระเบียบการเงินทำให้การเบิกเงินมีความล่าช้า (5.3) การมีส่วนร่วมของประชาชนและสถานศึกษาเอกชนกับหน่วยงานภาครัฐไม่มีความต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะจากการวิจัย 1) ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ควรสานต่อนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ต่อไป โดยส่งเสริมและพัฒนาปัจจัยทั้ง 11 ปัจจัยให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น เตรียมความพร้อมด้านงบประมาณให้สอดคล้องกับความจำเป็นใช้จริงของผู้เรียน ส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรของสถานศึกษาเอกชนให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระเบียบการเงินและมีทัศนคติที่ดีต่อนโยบายเรียนฟรี วางแผนกลยุทธ์เสริมสร้างเครือข่ายและพัฒนาความร่วมมือระหว่างบุคลากรทั้งภายในและภายนอกองค์กร 2) ข้อเสนอแนะเชิงการบริหาร ควรจัดระบบการเบิกจ่ายงบประมาณให้มีความสะดวก รวดเร็ว และทันก่อนเปิดภาคเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียน ผู้ปกครองและสถานศึกษาเอกชนได้มีส่วนร่วมในการวางแผนนโยบายร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ แต่งตั้งทีมเฉพาะกิจลงพื้นที่สำรวจความต้องการความช่วยเหลือที่แท้จริงของนักเรียน ควบคุม ติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติตามนโยบายเรียนฟรีอย่างต่อเนื่อง และประชาสัมพันธ์ข่าวสารนโยบายเรียนฟรีผ่านสื่อที่หลากหลายโดยเลือกใช้สื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

คำอธิบาย

มหาวิทยาลัยศรีปทุม

คำหลัก

ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ, นโยบายเรียนฟรี 15 ปี, การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ, สถานศึกษาเอกชน ประเภทอาชีวศึกษา

การอ้างอิง