ปัญหาในการกำหนดมาตรฐานค่าจ้างว่าความในคดีแพ่ง
กำลังโหลด...
วันที่
2551-08-26T06:27:52Z
ผู้เขียน
ชื่อวารสาร
วารสาร ISSN
ชื่อหนังสือ
สำนักพิมพ์
เชิงนามธรรม
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มุ่งศึกษาแนวทางในการแก้ไขตารางอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง พ.ศ.2521 (ฉบับที่7) มาตรา8 ซึ่งเป็นค่าทนายความที่รัฐกำหนดให้แก่ทนายความ เนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งฉบับดังกล่าว ได้ใช้บังคับตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 นับถึงปัจจุบันเป็นเวลานานเกือบ 30 ปี อัตราค่าทนายความจึงไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน อีกทั้งไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยในที่มีผลต่อการเรียกค่าจ้างทนายความแต่อย่างใด ตลอดจนศึกษาถึงวิธีการและรูปแบบแนวทางในการกำหนดมาตรฐานค่าจ้างว่าความในคดีแพ่งในส่วนที่ทนายความและลูกความตกลงค่าจ้างกันเอง เนื่องจากในปัจจุบันพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 และข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ไม่ได้กำหนดรูปแบบ วิธีการการเรียกค่าจ้างว่าความที่ชัดเจนไว้แต่อย่างใด อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายอื่นใดกำหนดรูปแบบการเรียกค่าจ้างว่าความไว้ที่ชัดเจน การเรียกค่าจ้างว่าความระหว่างทนายความและประชาชนผู้มีอรรถคดีจึงเป็นไปตามความต้องการและการตกลงกัน ซึ่งหาได้เป็นมาตรฐานไม่
จากการศึกษาพบว่ารูปแบบการเรียกค่าจ้างว่าความของทนายความในคดีแพ่ง ในปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือค่าจ้างว่าความที่รัฐกำหนดให้ ตามตารางอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่ง และค่าจ้างว่าความที่ทนายความและลูกความตกลงกันเอง และจากการศึกษาพบว่าปัญหาในการกำหนดมาตรฐานค่าจ้างว่าความในคดีแพ่งในส่วนค่าทนายความที่รัฐจัดให้มีปัญหาในเรื่องเกี่ยวกับอัตราค่าทนายความตามตารางท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งใช้บังคับมาเกือบ 30ปี ยังล้าสมัยไม่ได้คำนึงสภาพเศรษฐกิจและปัจจัยอื่นอันมีอิทธิพลต่อการเรียกค่าจ้างว่าความ อีกทั้งอัตราค่าทนายความดังกล่าวให้ศาลเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าทนายความตามอัตราขั้นต่ำขั้นสูง ซึ่งอาจมีปัญหาในเรื่องของการใช้ดุลพินิจเนื่องจากผู้พิพากษา แต่ละคนมีดุลพินิจที่แตกต่างกัน ในส่วนของค่าจ้างว่าความที่ทนายความและลูกความตกลงกันเองนั้นพบว่าปัญหามาจากการที่พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 และข้อบังสภาทนายความ พ.ศ.2529 ไม่ได้กำหนดวิธีการหรือรูปแบบการเรียกค่าจ้างว่าความไว้ชัดเจน
จากปัญหาดังได้กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนจึงมีข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆดังกล่าวคือ ในส่วนของค่าจ้างที่รัฐกำหนดให้นั้นควรแก้ไขตารางอัตราค่าทนายความท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยการกำหนดตารางอัตราค่าทนายความขึ้นใหม่ ทั้งนี้โดยคำนวณจากอัตราการเจริญเติบโตของผลิตภัณฑ์โดยรวมในประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ.2521 จนถึงปัจจุบัน และกำหนดแนวทางในการควบคุมการใช้ดุลพินิจของศาลในการกำหนดค่าจ้างว่าความให้ชัดเจน ส่วนค่าจ้างที่ทนายความและลูกความตกลงกันเองนั้น ให้แก้ไขพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.2528 หรือข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 โดยกำหนดตารางอัตราค่าทนายความในอัตราขั้นสูงและขั้นต่ำไว้ และกำหนดให้ชัดเจนว่าการเรียกค่าทนายความตามตารางอัตราค่าทนายความดังกล่าวให้พิจารณาจากปัจจัยอะไรบ้าง
แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ผู้เขียนเห็นว่าสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมตามความเป็นจริงในปัจจุบัน และจะเป็นมาตรฐานทางกฎหมายที่ถูกต้องและชอบธรรมในการเรียกค่าจ้างว่าความในคดีแพ่งอันเป็นหลักการสำคัญที่เป็นประโยชน์และอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี และทนายความอย่างแท้จริง
คำอธิบาย
คำหลัก
คดีแพ่ง, ค่าจ้าง