ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
กำลังโหลด...
วันที่
2553-05-29T07:09:25Z
ผู้เขียน
ชื่อวารสาร
วารสาร ISSN
ชื่อหนังสือ
สำนักพิมพ์
เชิงนามธรรม
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาถึง ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ ได้ถูกยกร่างขึ้นบนสถานการณ์ที่ต้องการจะนำพาประเทศไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ โดยจะจัดให้มีการเลือกตั้งครั้งต่อไป เพื่อแก้ปัญหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่หลายฝ่ายเห็นว่าก่อให้เกิดการผูกขาดอำนาจรัฐและการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ล้มเหลว การใช้สิทธิและเสรี ภาพของประชาชนยังไม่ได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมอย่างเต็มที่แต่เนื่องจากว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้เกิดขึ้นภายหลังจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 โดยสภาร่างรัฐ ธรรมนูญที่มาจากกระบวนการดำเนินการของคณะรัฐประหาร บทบัญญัติหลายประการที่ปรากฏ ในรัฐธรรมนูญนี้ถูกบัญญัติโดยมีความคิดที่จะให้สังคมต่างเชื่อว่าจะพยายามแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2540 ที่ให้อำนาจของฝ่ายบริหารในรัฐบาลที่ผ่านมามากมายแต่การบังคับใช้กลับทำให้สังคมบางส่วนเห็นว่า มีความพยายามที่จะนำเอาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 มาเป็นเครื่องมือในการกำจัดฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามกับคณะรัฐประหารเสียมากกว่าไม่ว่าจะเป็นกรณีการพิจารณาตัดสินยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคและใช้มาตรการการลงโทษพรรคการเมืองและผู้บริหารพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 ประกอบมาตรา 68 จะเห็นว่ากลุ่มการเมืองโดยเฉพาะในฝ่ายของอดีตรัฐบาลก่อนรัฐประหารถูกองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยโดยผ่านกระบวนการยุติธรรมจนรัฐบาลต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเดียวกันซึ่งถ้าการใช้อำนาจและการใช้ดุลยพินิจในการวินิจฉัยขององค์กรตุลาการ หากไม่ปรากฏภาพชัดว่าตั้งอยู่บนครรลองของความยุติธรรม หรืออาจเป็นไปด้วยความด้อยเหตุผลหรือไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คำพิพากษาดังกล่าวนี้ก็จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่เข้ามามีส่วนร่วมในทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือสมาชิกของพรรคการเมืองจนขาดความสมบูรณ์และขาดความเหมาะสม เพราะเมื่อมีการยุบพรรคการเมืองและล่วงเลยไปถึงการเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งของบุคคลในพรรคที่มิได้มีส่วนรู้เห็นเหตุแห่งการยุบพรรคนั้นด้วยแล้วก็จะทำให้บุคลากรในส่วนที่มีความรู้ความสามารถที่กำลังขับเคลื่อนพลวัตรความก้าวหน้าของประเทศไปสู่สังคมโลกและเป็นกำลังหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติทั้งทางด้านเศรษฐกิจสังคมและการเมืองเป็นอันสะดุดหยุดลงประกอบกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้นย่อมไปกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคลในการเลือกตั้งเพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 72 ได้กำหนดให้การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นหน้าที่ ดังนั้นหากคำพิพากษาของศาลห้ามมิให้ไปใช้สิทธิการเลือกตั้งด้วยแล้วก็ไม่ทราบว่าคำพิพากษาดังกล่าวจะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ซึ่งผู้วิจัยเห็นว่าจะอย่างไรก็ตามเมื่อมีรัฐธรรมนูญก็ต้องมีศาลรัฐธรรมนูญ การจะก้าวถอยหลังโดยไม่มีการตั้งองค์กรใดมาทำหน้าที่วินิจฉัยเพียงเพราะขาดตุลาการที่เป็นกลางคงจะเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด ส่วนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญในการยุบพรรคต้องไปแก้ไขในรัฐธรรมนูญ กำหนดให้พรรคการเมืองถูกยุบได้ในกรณีที่ร้ายแรงจริงๆ เช่น ได้กระทำการที่มีลักษณะเป็นการล้มล้างหรืออาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบ ร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมืองอย่างร้ายแรงที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐหรือตามที่กฎหมายบัญญัติไว้
คำอธิบาย
คำหลัก
กฎหมาย, ยุบพรรคการเมือง, ศาลรัฐธรรมนูญ