ปัญหากฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้าในวิสาหกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อมในประเทศไทยเมื่อมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

เชิงนามธรรม

ในการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การที่พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 14 กำหนดให้มีทุนขั้นต่ำที่คนต่างด้าวใช้ในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทยเป็นการขัดกับหลักการปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) ของสมาชิกอาเซียนตามที่กำหนดไว้ในแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (AEC Blueprint) ซึ่งต้องให้มีข้อยกเว้นไว้สำหรับคนชาติสมาชิกอาเซียนด้วย ในเรื่องหน่วยงานในการให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปรากฏว่ามีหลายหน่วยงานและแต่ละหน่วยงานก็มีข้อมูลไม่ครบถ้วน จึงควรที่จะให้มีหน่วยงานหนึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือนี้ และตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 คณะกรรมการมีที่มาจากฝ่ายการเมืองจะขาดความเป็นอิสระ ขาดความคล่องตัว ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญ ฉะนั้นจึงควรที่จะให้กรรมการต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่าสิบห้าปี ในสาขาวิชานิติศาสตร์ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเงิน อุตสาหกรรม การบริหารธุรกิจหรือการบริหารราชการแผ่นดิน การคุ้มครองผู้บริโภค และจะต้องไม่เป็นผู้ถือหุ้น หรือเป็นผู้บริหารในสมาคมวิชาชีพ สมาคมการค้า หรือบริษัทใด ๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่าเกณฑ์กำหนดหรือบริษัทมหาชน ก่อนที่จะมาเป็นกรรมการไม่น้อยกว่าห้าปีด้วย ตามมาตรา 25 ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 เรื่องผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดมีหลักเกณฑ์รายได้ที่สูงเกินไปทำให้ผู้ประกอบการที่ถูกจับตามีน้อยเกิดการใช้อำนาจเหนือตลาดเป็นการเอาเปรียบผู้ประกอบการรายอื่นและก่อให้เกิดความเสียหายแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้นจึงต้องลดขนาดของรายได้ลง นอกจากนั้น ตามมาตรา 26 เรื่องการควบรวมธุรกิจที่ไม่มีความชัดเจนของจำนวนรายได้ 2,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาว่า คำนวณจากรายได้ของบริษัทเดียว หรือรวมถึงรายได้ของกลุ่มบริษัททั้งกลุ่ม ผู้วิจัยเห็นว่าควรมองอำนาจควบคุมที่แท้จริงทั้งกลุ่ม มิฉะนั้นจะเป็นช่องว่างของกฎหมายให้ผู้ประกอบการตั้งบริษัทใหม่ที่มีรายได้ต่ำเพื่อทำการรวมกิจการหลีกเลี่ยงการเป็นผู้มีอำนาจควบคุมตลาดได้ และการที่กำหนดให้ยอดเงินขาย/รายได้ ในปีที่ผ่านมาเป็นรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการเฉพาะสินค้าใดสินค้าหนึ่งหรือบริการใดบริการหนึ่ง จะมีบริษัทใดที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวนั้นย่อมจะเป็นไปได้ยาก ควรให้มีการกำหนดให้คำนวณรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการทั้งหมดของบริษัท และตามมาตรา 29 เรื่องการแข่งขันเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรม คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้ถือแนวปฏิบัติของคำว่าเป็นธรรมนั้นเป็นลักษณะอย่างกว้าง ๆ ไม่สามารถใช้ได้จริง ควรที่จะให้ครอบคลุมประเด็นที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค หรือผู้ประกอบการรายย่อยจำนวนมากโดยตรงด้วย

คำอธิบาย

มหาวิทยาลัยศรีปทุม

คำหลัก

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม, การแข่งขันทางการค้า, ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

การอ้างอิง