การบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม=BUDDHISM DISSEMINATION ADMINISTRATION OF THE SANGHA SUPREME COUNCIL IN THE GLOBALIZATION

เชิงนามธรรม

การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ศึกษาระดับการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุค โลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม 2) ศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม 3) ศึกษาปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานของมหาเถรสมาคม และ4) เป็นข้อเสนอแนะการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสม ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) และวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ พระสงฆ์ในสังกัดของมหาเถรสมาคมในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 400 รูป ทำการเลือกตัวอย่างโดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญหรือการสุ่มตัวอย่างตามความสะดวก (Convenience Sampling) โดยใช้แบบ สอบถามเป็นเครื่องมือ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุ ส่วนการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีวิเคราะห์ข้อมูลและสร้างข้อสรุปรวมทั้งวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยพบว่า ด้านกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุ 25 – 34 ปี พรรษาไม่เกิน 5 การศึกษาอยู่ ในระดับปริญญาตรี ส่วนใหญ่ไม่มีตำแหน่งทางคณะสงฆ์ ด้านระดับการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคมโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง และประเด็นย่อยทุกประเด็นได้แก่ การอุปถัมภ์บุคลากรผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนางานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของคณะสงฆ์ การส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรม การส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาบุคลากรด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรมของชุมชน เป็นศูนย์การเรียนรู้หลักพุทธธรรมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา การส่งเสริมพัฒนารูปแบบและนวัตกรรมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในทุกมิติ การจัดตั้งและพัฒนาศักยภาพองค์กรในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา อยู่ในระดับปานกลางทั้งหมด ส่วนผลการวิจัยความสัมพันธ์ของปัจจัยที่ส่งผลต่อการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม พบว่า ปัจจัยการบริหารทุกปัจจัยมีความสัมพันธ์กับการบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ด้านปัญหาและอุปสรรคการบริหารของมหาเถรสมาคม พบว่า มหาเถรสมาคมมีการบริหารตามระบบโครงสร้างการปกครองทางคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นการบริหารในแนวดิ่ง ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้าง เกิดระบบอุปถัมภ์ ระบบสมณศักดิ์เป็นปัญหาต่อการบริหาร งานคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เน้นงานด้านการปกครองและการศึกษา ส่วนการเผยแผ่เป็นประเด็นรอง ทำให้ขาดงบประมาณและสื่อการเผยแผ่ จนพระสงฆ์ที่ทำงานด้านการเผยแผ่มีน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนพระสงฆ์และชาวพุทธทั้งประเทศ พระสงฆ์ขาดความเข้าใจในโลกสมัย ไม่อาจประตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนข้อเสนอแนะพบว่า กรรมการมหาเถรสมาคมควรเกษียณอายุเมื่อครบ 70 ปี ไม่ควรบริหารในแนวดิ่ง ควรสร้างระบบเครือข่ายองค์กรด้านการเผยแผ่พุทธศาสนาให้มากขึ้น ควรปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้องทันสมัยกับการบริหารสมัยใหม่ เน้นให้พระสงฆ์ทำงานด้านการเผยแผ่ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำรงมั่นของพุทธศาสนา

คำอธิบาย

มหาวิทยาลัยศรีปทุม

คำหลัก

การบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนา, มหาเถรสมาคม, โลกาภิวัตน์

การอ้างอิง

พระมหานงค์ อับไพ. 2558. "การบริหารการเผยแผ่พุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัตน์ของมหาเถรสมาคม." วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาด้านการจัดการ วิทยาคารพญาไท.