ปัญหาสิทธิในการทำงานของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง

เชิงนามธรรม

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาสิทธิในการทำงานของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง อันได้แก่ปัญหาการเข้าเมืองเพื่อทำงานของแรงงานต่างด้าวปัญหาประเภทงานที่ให้คนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสามารถขออนุญาตทำงานได้ และปัญหาการปฏิบัติเรื่องความคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายแรงงาน การศึกษาปัญหาดังกล่าว เป็นการวิจัยเอกสาร โดยรวบรวมค้นคว้าข้อมูลจาก ตำรา เอกสารทางวิชาการ งานวิจัย วิทยานิพนธ์ บทความ วารสาร และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เชิงคุณภาพโดยวิธีพรรณนาความ จากการศึกษาพบว่า ปัญหาสิทธิในการทำงานของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง มีปัญหาที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. ปัญหาในเรื่องการเข้าเมืองเพื่อทำงาน ของแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง อันเนื่องมาจากมาตรา 12 (3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 เป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว เนื่องจากได้กำหนดห้ามมิให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร ประกอบอาชีพกรรมกร ทั้ง ๆ ที่ในปัจจุบัน ประเทศไทย มีความต้องการแรงงานต่างด้าวประเภทไร้ฝีมือมาก ทำให้มีการลักลอบประกอบอาชีพกรรมกร 2. ปัญหาในเรื่องประเภทงานที่อนุญาตให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองทำได้ เนื่องจากในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 และพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ 39 อาชีพ กำหนดห้ามแรงงานต่างด้าวโดยถูกกฎหมายทำงานในอาชีพกรรมกร แต่รัฐกลับมีนโยบายผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองสัญชาติพม่า ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานเป็นกรรมกรได้ ทั้งนี้ โดยอาศัยประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องกำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ทำได้ ก่อให้เกิดการลักลั่นในการปฏิบัติ และเกิดปัญหาในการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานต่างด้าว 3. ปัญหาทางปฏิบัติเรื่องความคุ้มครองแรงงานตามกฎหมายแรงงาน กฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงาน ตามกฎหมายไทย ยังขาดความชัดเจน ก่อให้เกิดปัญหาทางปฏิบัติ แรงงานต่าง-ด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองและอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร มักจะไม่ได้รับความคุ้มครอง ทั้งที่ในความจริงแล้ว กฎหมายคุ้มครองแรงงานไทย สามารถใช้บังคับคุ้มครองกับแรงงานต่างด้าวทุกคนที่ทำงานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีใบอนุญาตทำงานหรือไม่ วิทยานิพนธ์นี้ จึงเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ในประเด็นปัญหา ดังนี้ 1. ยกเลิกมาตรา 12 (3) แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 และบัญญัติเพิ่มเติมความในมาตรา 34 ว่า คนต่างด้าวซึ่งจะเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ จะต้องเข้ามาเพื่อการดังต่อไปนี้ (16) การประกอบอาชีพกรรมกร หรือเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยกำลังกาย โดยไม่ได้อาศัยความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรืองานรับใช้ในบ้าน หรืองานอื่นใด ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ที่กำหนดในประกาศกระทรวงแรงงาน โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี 2. ยกเลิกงานกรรมกรในพระราชกฤษฎีกา กำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่าง-ด้าวทำ เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 3. เสนอแนะให้มีการเพิ่มเติมบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 โดยให้มีบทบัญญัติ ให้นำพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับแก่ลูกจ้างซึ่งเป็นคนต่างด้าวทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตทำงานด้วย และเพิ่มเติมมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยแก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่า ลูกจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยรับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ไม่ว่าลูกจ้างจะมีสัญชาติใด และไม่ว่าจะมีใบอนุญาตทำงานหรือไม่

คำอธิบาย

คำหลัก

แรงงานต่างด้าว

การอ้างอิง