ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับฟ้องซ้ำในคดีผู้บริโภค: ศึกษากรณีค่าขาดราคา จากการขายทอดตลาดรถยนต์

กำลังโหลด...
รูปภาพขนาดย่อ

วันที่

2565

ชื่อวารสาร

วารสาร ISSN

ชื่อหนังสือ

สำนักพิมพ์

มหาวิทยาลัยศรีปทุม

เชิงนามธรรม

สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการฟ้องซ้ำในคดีผู้บริโภค ศึกษากรณีค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์ ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งในเรื่องฟ้องซ้ำได้นำหลักเกณฑ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้ และได้มีคำวินิจฉัยของศาลฎีกากำหนดให้ผู้ให้เช่าซื้อสามารถนำค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์มาฟ้องเป็นคดีใหม่ได้ ทำให้ผู้เช่าซื้อถูกดำเนินคดีซ้ำซ้อน นอกจากนี้ผู้ให้เช่าซื้อไม่อาจว่ากล่าวเรื่องค่าขาดราคาไปในชั้นบังคับคดีเดิมได้ ผลจากการศึกษาวิเคราะห์พบว่า ปัจจุบันหนี้จากการเช่าซื้อรถยนต์กำลังเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยเนื่องจากศักยภาพทางการเงินของผู้เช่าซื้อหลายรายลดน้อยลงจึงไม่สามารถชำระหนี้ให้ครบถ้วนได้ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ได้ ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลเป็นคดีผู้บริโภคจำนวนมาก ซึ่งกฎหมายที่ใช้ในการพิจารณาคดีผู้บริโภคยังไม่เหมาะสมกับกรณีค่าขาดราคารถยนต์ที่นำยึดได้ภายหลังจากที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด และไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ต้องการให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก ประหยัด รวดเร็ว และไม่เป็นทางการ ทั้งยังไม่เป็นไปตามหลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษาด้วย ซึ่งเป็นปัญหาทางวิธีพิจารณาดังต่อไปนี้ (1) ปัญหาการฟ้องซ้ำในคดีผู้บริโภคเกี่ยวกับค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์และ(2) ปัญหาการบังคับคดีในคดีผู้บริโภคเกี่ยวกับค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์ ดังนั้น เพื่อให้ผู้เช่าซื้อสามารถว่ากล่าวในเรื่องค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์ได้ไปในคราวเดียวในคดีเดิมอันทำให้เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคทำให้ผู้เช่าซื้อประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี อีกทั้งเพื่อให้เป็นไปตามหลักความเป็นที่สุดของคำพิพากษา ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางกฎหมาย ดังนี้ (1) การตีความคำว่า “ประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน” ให้หมายความรวมถึงค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์ภายหลังศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดด้วย ทั้งคำพิพากษาในคดีแรกควรมีผลผูกพันคดีหลังไม่ให้มีการรับฟ้องไว้พิจารณา และแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 โดยบัญญัติเป็น มาตรา 30/1 กำหนดให้ “กรณีที่ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณา โดยมีผลผูกพันในส่วนค่าเสียหายอันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งมีที่มาจากการผิดสัญญาฉบับเดียวกันด้วย ไม่ว่าค่าเสียหายนั้นจะมีอยู่ขณะฟ้องคดีหรือไม่ เว้นแต่ จะถูก เปลี่ยนแปลง แก้ไข หรืองดเสีย ตามกฎหมายว่าด้วยการอุทธรณ์ฎีกา หรือพิจารณาใหม่” (2) นอกจากนี้เห็นควรให้ค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดสามารถบังคับคดีในคดีเดิมได้ โดยเทียบกับกรณีการบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินที่จำนองโดยตกลงยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 โดยถือว่าเป็นกรณีมีเหตุขัดข้องทำให้ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาได้ และมีความจำเป็นต้องกำหนดวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้มีการบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551

คำอธิบาย

คำหลัก

ฟ้องซ้ำ, คดีผู้บริโภค, ค่าขาดราคาจากการขายทอดตลาดรถยนต์

การอ้างอิง

อาภากร ประยงค์แย้ม. 2563. "ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับฟ้องซ้ำในคดีผู้บริโภค: ศึกษากรณีค่าขาดราคา จากการขายทอดตลาดรถยนต์." สารนิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายธุรกิจ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.