กระบวนการสร้างสรรค์แอนิเมชันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในหัวข้อ สายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดขอนแก่น

กำลังโหลด...
รูปภาพขนาดย่อ

วันที่

2567-06-18

ชื่อวารสาร

วารสาร ISSN

ชื่อหนังสือ

สำนักพิมพ์

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา

เชิงนามธรรม

ผลงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดขอนแก่นและอัตลักษณ์ชุมชนของอุทยานธรณีขอนแก่น 2) เพื่อวิเคราะห์หาแนวทางในการสร้างสรรค์สื่อดิจิทัลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดขอนแก่นและอัตลักษณ์ชุมชนของอุทยานธรณีขอนแก่น 3) เพื่อสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานสื่อดิจิทัลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์โดยสอดแทรกอัตลักษณ์ของชุมชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น โดยการสร้างสรรค์แอนิเมชันนี้เป็นการศึกษาการใช้สื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ประเภทแอนิเมชัน 2 มิติเพื่อการส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียน เริ่มด้วยการศึกษาข้อมูล 4 ด้านหลักๆ ได้แก่ 1) ข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ไดโนเสาร์ในจังหวัดขอนแก่น 2) ข้อมูลเกี่ยวกับอัตลักษณ์ชุมชนของอุทยานธรณีขอนแก่น 3) ทฤษฎีการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยเรียน 4) แนวทางการสร้างสรรค์แอนิเมชัน 2 มิติ เพื่อนำมาวิเคราะห์หาแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันที่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้และวัดผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ไดโนเสาร์ในจังหวัดขอนแก่น มีเครื่องมือในการวิจัยคือแอนิเมชัน 2 มิติเกี่ยวกับไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์ที่สอดแทรกอัตลักษณ์ชุมชนของอุทยานธรณีขอนแก่น แบบประเมินความพึงพอใจ แบบสอบถามผู้ชมและผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน วิธีการดำเนินงานวิจัยเป็นไปตามขั้นตอนดังนี้ ศึกษาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัยแล้วนำข้อมูลที่รวบรวมได้มาสรุปเนื้อหาที่จะนำมาเสนอในสื่อแอนิเมชันจากนั้นทำการส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิประเมินความถูกต้องของเนื้อหาแล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูล คัดเลือกแนวทางการสร้างสรรค์ให้สามารถส่งเสริมการเรียนรู้ได้ดีที่สุด จากนั้นทำการออกแบบและสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชัน นำไปจัดแสดงผลงานและสำรวจความพึงพอใจของผู้ชมจากแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ ผลการวิจัยมีดังนี้ (1) ไดโนเสาร์ที่ขุดพบเป็นครั้งแรกในจังหวัดขอนแก่นมีทั้งหมด 5 สายพันธ์ได้แก่ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) กินรีไมมัส ขอนแก่นเอนซิส (Kinnareemimus khonkaennsis) สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamotyrannus isanensis) สยามโมซอรัส สุธีธรนิ (Siamosaurus suteethorni) ภูเวียงเนเตอร์ แย้มนิยมมิ (Phuwiangvenator yaemniyomi) ซึ่งเป็นชื่อเรียกที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการค้นพบและยังมีชื่อเล่นเพื่อการจดจำได้ง่ายคือ น้องโย่ง น้องเปรียว น้องดุ น้องแข่ น้องแรพ ตามลำดับ โดยแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะเด่นในด้านกายภาพ การอยู่อาศัย อาหารการกินและถิ่นที่อยู่ (2) แนวทางการสร้างสรรค์สื่อเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กวัยเรียนโดยออกแบบสื่อดิจิทัลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ไดโนเสาร์ประเภทแอนิเมชัน 2 มิติที่ดึงดูดความสนใจของเด็ก สร้างความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับผู้ชมและมีการออกแบบการเล่าเรื่องที่เน้นข้อมูลสำคัญ พบว่าช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ได้โดยผลการทดสอบด้วยสถิติ Paired Samples Test พบว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่อำเภอภูเวียงและอำเภอเวียงเก่า มีระดับการเรียนรู้ก่อนและหลังการเรียนรู้ผ่านสื่อดิจิทัลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดขอนแก่นและอัตลักษณ์ชุมชนของอุทยานธรณีขอนแก่นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (Sig. = 0.00) โดยที่มีคะแนนการเรียนรู้หลังดู (mean = 14.20) สูงกว่าก่อนดู (mean = 10.59) สื่อดิจิทัลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับสายพันธุ์ไดโนเสาร์ และ (3) ผู้วิจัยได้ทำการสร้างสรรค์และเผยแพร่ผลงานสื่อดิจิทัลที่ส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์ 5 สายพันธุ์โดยสอดแทรกอัตลักษณ์ชุมชนของอุทยานธรณีขอนแก่นทั้งในช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ โดยมีการจัดแสดงให้กับผู้ชมซึ่งเป็นคนในพื้นที่ ผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์และบุคคลทั่วไปที่สนใจ

คำอธิบาย

บทนำ จังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ที่เป็นแหล่งสำคัญทางธรณีวิทยาคือบริเวณอำเภอภูเวียงและอำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ที่ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติในปีพ.ศ. 2535 และเป็นอุทยานไดโนเสาร์แห่งแรกใน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กรมทรัพยากรธรณี, 2023) ปัจจุบันกำลังดำเนินการยื่นเรื่องต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ให้อุทยานธรณีขอนแก่นได้รับการยอมรับให้เป็นอุทยานธรณีโลก ซึ่งมีภารกิจที่ต้องสร้างความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ทุกภาคส่วน ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นจึงได้นำส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์ให้คณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความชำนาญในการผลิตสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบได้สนับสนุนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านแอนิเมชันเพื่อผลิตสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์ประเภทแอนิเมชันที่ให้ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรในอุทยานธรณีขอนแก่นโดยให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะเด่นของสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่ขุดพบในจังหวัดขอนแก่นอันเป็นเอกลักษณ์สำคัญของแหล่งขุดซากดึกดำบรรพ์ในจังหวัดขอนแก่น แม้ว่าแอนิเมชันเกี่ยวกับไดโนเสาร์จะมีให้รับชมจำนวนมาก แต่แอนิเมชันที่เกี่ยวกับไดโนเสาร์และมีวัตถุประสงค์เพื่อสื่อสารโดยตรงกับคนในพื้นที่และถ่ายทอดวิถีชีวิตท้องถิ่นนั้นยังไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาทำ ประกอบกับวัตถุประสงค์ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นที่ต้องการพัฒนาชุมชนโดยรอบให้ประชาชนตระหนักถึงคุณค่าของมรดกทางธรณี เรียนรู้ที่จะอนุรักษ์และได้รับประโยชน์ร่วมกัน ผู้จัดทำจึงได้เสนอแนวทางการออกแบบองค์ประกอบของแอนิเมชันให้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนในพื้นที่ให้ชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กวัยเรียน จึงได้ทำการศึกษาวิจัยเพื่อวิเคราะห์แนวทางที่จะสื่อสารให้เด็กๆ รู้สึกสนใจข้อมูลเกี่ยวกับไดโนเสาร์บริเวณอุทยานธรณีขอนแก่น ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นของเด็กๆ ผ่านการเล่าเรื่องราวที่สื่อถึงอัตลักษณ์และวิถีชีวิตของชาวบ้านในจังหวัดขอนแก่น เพื่อให้เกิดความรู้สึกเชื่อมโยงความรู้เรื่องไดโนเสาร์กับความคุ้นชินของกลุ่มเป้าหมาย อีกทั้งเป็นการย้ำเตือนว่าไดโนเสาร์ทั้ง 5 สายพันธ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่ค้นพบในท้องที่นี้ จึงนับว่าเป็นบุคคลในท้องถิ่นด้วยเช่นกัน และเนื่องจากกลุ่มเป้าหมายซึ่งเป็นเด็กวัยเรียนนั้นมีพื้นฐานความสนใจทางด้านมัลติมีเดีย (Digital Native) (Prensky, M. 2001) เมื่อใช้ร่วมกับทฤษฎีจิตวิทยาและทฤษฎีการศึกษาแล้วสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์สามารถอธิบายเนื้อหาที่มีความซับซ้อนให้ผู้เรียนได้มีความเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น (Denholm, J.A. 2014; FishBankGame.com, 2012; Gee, J.P. 2005; Claxton, G. 1997) เป็นช่องทางการสื่อสารที่เด็กวัยเรียนรวมทั้งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้เพราะสื่อดิจิทัลสร้างสรรค์นั้นสามารถเผยแพร่ได้หลายช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์

คำหลัก

แอนิเมชันสองมิติ, ส่งเสริมการเรียนรู้, สายพันธุ์ไดโนเสาร์, อัตลักษณ์อุทยานธรณีขอนแก่น

การอ้างอิง

เปรมวดี วินิจฉัยกุล. (2567). กระบวนการสร้างสรรค์แอนิเมชันเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในหัวข้อสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่พบในจังหวัดขอนแก่น. วารสารศิลปกรรมบูรพา, 27(1), 73-95. เผยแพร่แล้ว: 18 มิถุนายน 2567. https://so01.tci-thaijo.org/index.php/buraphaJ/article/view/274859