ปัญหาทางกฎหมายในการกำหนดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
กำลังโหลด...
วันที่
2565
ผู้เขียน
ชื่อวารสาร
วารสาร ISSN
ชื่อหนังสือ
สำนักพิมพ์
มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เชิงนามธรรม
สารนิพนธ์นี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์ปัญหาในการกำหนดหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) และความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้าง (Transparency of Procurement) ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 (Act of Government Procurement and Supply Management B.E. 2560 (2017)) ซึ่งจากการศึกษาพบว่ามีการกำหนดถ้อยคำว่า หลักธรรมาภิบาล ไว้แต่เพียงแห่งเดียว คือ ในส่วนของหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัตินี้เท่านั้น จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ควรศึกษาปัญหาดังกล่าวเพื่อหาแนวทางและนิติวิธีทางกฎหมายเพื่อให้หลักธรรมาภิบาลมีผลเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยสารนิพนธ์นี้มีการศึกษาเปรียบเทียบแนวคิด ทฤษฎี และหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักธรรมาภิบาล รวมถึงการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ
จากการศึกษาและพิเคราะห์พบว่า พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ตามนัยมาตรา 6 และมาตรา 8 เป็นหลักทั่วไปที่เป็นบทบัญญัติซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องแลสอดคล้องหลักธรรมาภิบาล แต่บทบัญญัติทั้งสองมาตรานี้ไม่ได้บัญญัติชัดเจนเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล และมิได้วางหลักเกณฑ์อันเกี่ยวกับจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและหลักความโปร่งใสอย่างเป็นรูปธรรม กรณีนี้จึงอาจเป็นช่องว่างของกฎหมาย (Gap of Law) และอาจถูกนำมาใช้หรือตีความไปในทางที่บิดเบือน โดยไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย (Spirit of Law) การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (Government Procurement and Supply Management)
เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงเห็นควรให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 และมาตรา 8 (2) โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ (Rule) และวิธีการดำเนินการทางกฎหมาย (Legal Measure) ซึ่งควรบัญญัติให้มีหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสไว้อย่างชัดเจน โดยอาจกำหนดหลักการในการดำเนินงาน (Principle of Operation) และหลักการพื้นฐาน (Fundamental Principle) ของความโปร่งในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้ครอบคลุมทั้งหลักธรรมาภิบาลและหลักความโปร่งใส ซึ่งกรณีดังกล่าวอาจช่วยแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบ (Corruption and Wrongful Conduct) ในการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้พระราชบัญญัตินี้เป็นมาตรฐานกลาง (Standard Rule) ที่กำหนดแนวทางให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ (Benefit in Developing the Country) และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐ (the Supreme Interest of State) ต่อไป
คำอธิบาย
คำหลัก
หลักธรรมาภิบาล, ความโปร่งใส, กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ, การจัดซื้อจัดจ้าง, การบริหารพัสดุภาครัฐ
การอ้างอิง
จารุมน บุญรักษา. 2565. “ปัญหาทางกฎหมายในการกำหนดหลักธรรมาภิบาลและความโปร่งใสตามกฎหมายว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ.” บทความนิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม.