LAW-08. ผลงานนักศึกษา

URI ถาวรสำหรับคอลเล็กชันนี้

เรียกดู

การส่งล่าสุด

ตอนนี้กำลังแสดง1 - 5 ของ 5
  • รายการ
    ปัญหาทางกฎหมายของการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย : เน้นศึกษากรณีการให้ความคุ้มครองผู้ให้เช่า
    (มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2565) สุภัค สวัสดิ์ประทานชัย
    สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายของการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยโดยมุ่งเน้นศึกษากรณีการให้ความคุ้มครองผู้ให้เช่าเป็นสำคัญ เพราะการใช้และการตีความประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องเกี่ยวกับสัญญาเช่าทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยในปัจจุบันนั้น มีการตีความที่เน้นให้ความคุ้มครองผู้เช่าในฐานะผู้บริโภคมากกว่าที่จะตีความตามหลักเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนจากผู้เช่าที่สัญญาเช่าสิ้นสุดลงไปแล้ว นอกจากนั้นยังมีกฎหมายเฉพาะอีกหลายฉบับที่ให้ความคุ้มครองผู้เช่าไว้เป็นการเฉพาะอีกด้วย ได้แก่ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 และ พ.ศ.2541 (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 และรวมถึงประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจการให้เช่าอาคารเพื่อการอยู่อาศัยเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ.2542 เป็นต้น จากการศึกษากฎหมายหลักและกฎหมายลำดับรองของไทยที่ต่างมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองผู้เช่าเป็นสำคัญ ปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายที่ไม่มีขอบเขตความชัดเจนแน่นอนจนเป็นการละเมิดหรือลิดรอนสิทธิของผู้ให้เช่าที่ชอบธรรมตามกฎหมายได้ ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย อีกทั้งยังขัดกับหลักเสรีภาพในการทำสัญญาอีกด้วย จนผู้ให้เช่าไม่ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของกฎหมายอย่างเพียงพอและเกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า เมื่อได้ศึกษาถึงกฎหมายต่างประเทศในเรื่องการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัย เช่น สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และประเทศญี่ปุ่น ได้มีการบัญญัติกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยไว้เป็นการเฉพาะโดยมีการกำหนดรูปแบบและรายละเอียดของการทำสัญญาไว้ เช่น การให้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่ผู้ให้เช่า การกำหนดเงื่อนไขเรื่องค้ำประกันความเสียหาย และรวมถึงการกำหนดค่าเสียหายในกรณีที่ผู้เช่าละเมิดสิทธิของผู้ให้เช่าอีกด้วย ซึ่งในกฎหมายไทยไม่ได้มีการบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะเหมือนกฎหมายของต่างประเทศ จึงทำให้ผู้เช่าได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายที่มากเกินขอบเขตและทำให้ผู้ให้เช่าตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและไม่ได้รับความคุ้มครองตามหลักความเสมอภาคระหว่างคู่สัญญา ดังนั้น ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมาแล้ว ประเทศไทยจึงควรกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยไว้เป็นการเฉพาะเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการให้การคุ้มครองตามสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายทั้งฝ่ายผู้เช่าและผู้ให้เช่าเหมือนกันกับกฎหมายของต่างประเทศ โดยการกำหนดหลักเกณฑ์ให้มีความคุ้มครองที่มีลักษณะถ่วงดุลกันไม่ใช่มุ่งให้การคุ้มครองแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องสิทธิและหน้าที่ของทั้งผู้เช่าและผู้ให้เช่า หลักเกณฑ์เรื่องการค้ำประกันความเสียหาย และรวมถึงหลักเกณฑ์เรื่องการสิ้นสุดของสัญญาด้วย
  • รายการ
    การพัฒนากฎหมายกำกับดูแลมัคคุเทศก์
    (มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2565) กรินทร โตรักตระกูล
    ในปัจจุบันการท่องเที่ยวนั้นเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย เมื่อสังคมประเทศไทยทุกวันนี้มีความเปิดกว้าง ให้เสรีภาพแก่คนมากขึ้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทุกคนย่อมไปเที่ยวทั้งในประเทศของตนและต่างประเทศ เมื่อการเดินทางระหว่างประเทศสามารถเดินทางได้โดยสะดวกและไม่ยุ่งยากมากขึ้น ประกอบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทำให้สามารถมีการติดต่อกันระหว่างประเทศได้มากขึ้น จึงมีอาชีพการนำเที่ยวหรือมัคคุเทศก์เกิดขึ้น เมื่อจำนวนมัคคุเทศก์มีมากขึ้น จึงเกิดการแข่งขันทำให้เกิดเป็นธุรกิจการท่องเที่ยวจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่ทำเงินให้กับประเทศมากขึ้น ดังนั้นจึงควรทำให้ทุกอย่างเป็นระบบเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติ คนที่ไปท่องเที่ยวนั้นย่อมต้องการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ อย่างถูกต้องทั้งเรื่องประวัติของสถานที่นั้น ๆ วัฒนธรรม ภาษา และอื่น ๆ แต่ก็ยังพบปัญหาอยู่สองกรณี ได้แก่ การมีมัคคุเทศก์ที่ไม่มีใบอนุญาต กับ Sitting Guide หรือการที่มัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตรับจ้างนั่งรถไปกับทัวร์เพื่อให้ครบองค์ประกอบว่ามีมัคคุเทศก์ที่มีใบอนุญาตนำเที่ยวแล้ว แต่มัคคุเทศก์คนที่เป็น Sitting Guide นั้น ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์จริง ๆ แต่จะมีมัคคุเทศก์ชาวต่างชาติคอยทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์อยู่ ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคืออาจจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ อย่างถูกต้องครบถ้วน หรือได้รับข้อมูลที่ผิดเพี้ยนไป ซึ่งส่วนหนึ่งในการเกิดปัญหาดังกล่าวเนื่องจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะทำการขอใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ ซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติที่สูงเกินไป ในหลาย ๆ คนไม่มีโอกาสได้รับการศึกษาตามที่กำหนดทำให้ไม่สามารถขอใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ได้ จากการศึกษาในประเทศอื่น ๆ การจะขอใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ไม่มีการกำหนดคุณสมบัติมากเท่าของประเทศไทย เพียงแต่มีการกำหนดคุณสมบัติพื้นฐานไว้เท่านั้น เช่น ต้องมีการผ่านการอบรมมาก่อนจึงจะมายื่นขอใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ได้ ดังนั้นผู้เขียนมีความเห็นว่าการที่จะมีการตราพระราชบัญญัติสภามัคคุเทศก์แห่งประเทศไทยขึ้นมาเพื่อทำให้มัคคุเทศก์เป็นอาชีพที่เป็นวิชาชีพ โดยให้คนกลุ่มเดียวกันมาดูแลกำกับกันในสายอาชีพ ย่อมเป็นผลดีและช่วยลดปัญหามัคคุเทศก์ที่ไม่มีใบอนุญาตและปัญหา Sitting Guide ได้ เนื่องจากคนในกลุ่มเดียวกันย่อมเข้าใจสถานการณ์ต่าง ๆ ของคนในสายอาชีพเดียวกัน การที่จะจัดตั้งสภามัคคุเทศก์แห่งประเทศไทยขึ้นมาให้ได้รับมอบอำนาจจากรัฐจึงเป็นสิ่งที่สมควรทำ และผู้เขียนเห็นสมควรให้มีการปรับปรุงกฎหมายและมีการตรากฎหมายเพิ่มเติม
  • รายการ
    ปัญหาทางกฎหมายกรณีใช้สิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกัน ตามพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558
    (มหาวิทยาลัยศรีปทุม, 2565) พิสิฐ ตันติโรจนกิจการ
    พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ของประเทศไทย พัฒนาขึ้นจากระบบการประกันด้วยทรัพย์สินแบบ Floating Charge ของสหราชอาณาจักร และ Uniform Commercial Code (UCC) Article 9 Secured Transactions ของสหรัฐอเมริกา เพื่อแก้ไขข้อจำกัดทรัพย์สินจำนอง การครอบครองทรัพย์จำนำ และประเด็นกฎหมายการใช้สิทธิเรียกร้องเป็นประกันในทางธุรกิจ การก่อตั้งบุริมสิทธิด้วยวิธีการทำสัญญาตราทรัพย์สินเป็นหลักประกันและจดทะเบียน โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สิน ตลอดระยะเวลากว่า 4 ปี นับแต่เริ่มจดทะเบียน สิทธิเรียกร้อง เป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนสูงที่สุดถึงร้อยละ 76.84 ของมูลค่าหลักประกันรวม 9.39 ล้านล้านบาท แต่บทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการนำสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกันกลับมีเพียง 4 มาตรา เท่านั้น ยังไม่ครอบคลุมสิทธิเรียกร้องที่นิยามไว้อย่างกว้างขวาง การศึกษานี้มุ่งศึกษาปัญหาข้อกฎหมายและแนวปฏิบัติการนำสิทธิเรียกร้องจดทะเบียนเป็นหลักประกัน โดยศึกษาประวัติความเป็นมา แนวคิดและข้ออภิปรายของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ศึกษาเปรียบเทียบหลักการและบทบัญญัติของกฎหมายต่างประเทศทั้ง UCC Article 9 Secured Transactions และ UNCITRAL Model Law on Secured Transactions พบว่า คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฯ ได้ตัดทอนร่างมาตราที่เกี่ยวข้องกับการนำสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันทั้งการบอกกล่าวและวิธีการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนเหตุผิดนัดบังคับหลักประกัน บทบัญญัติขาดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ระหว่างลูกหนี้แห่งสิทธิ ผู้ให้และผู้รับหลักประกัน และไม่มีบทคุ้มครองลูกหนี้แห่งสิทธิดังเช่นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บทบัญญัติบังคับหลักประกันสิทธิเรียกร้องมีจำกัดไม่สามารถใช้กับหนี้อื่นที่ไม่ใช่หนี้เงิน ขาดบทบัญญัติกำหนดลำดับการใช้เงินแก่เจ้าหนี้ตามลำดับบุริมสิทธิดังเช่นกรณีทรัพย์สินอื่นหรือสิทธิในเงินฝาก นอกจากนี้ การนำหลักสุจริตและเสียค่าตอบแทนคุ้มครองบุคคลภายนอกให้ได้ทรัพย์หลักประกันที่ไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีลักษณะหมุนเวียนไปโดยปลอดภาระนั้นยังไม่ลงรอยในหลักกฎหมายเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งปรากฏข้อผิดหลงของบทบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาแทนหลักประกันเดิม ผู้ศึกษาได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาโดยนำมาตรการทางกฎหมายของต่างประเทศและร่างพระราชบัญญัติฯ ฉบับก่อนหน้ามาแก้ไขปรับปรุง โดยเสนอให้เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการบอกกล่าวการนำสิทธิเรียกร้องมาเป็นหลักประกัน และการชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องก่อนบังคับหลักประกันโดยเทียบเคียงกับการจำนำสิทธิที่มีตราสารและหลักกฎหมายของต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองคู่สัญญาหลักประกันและลูกหนี้แห่งสิทธิ เสนอแก้ไขบทบัญญัติการบังคับหลักประกันสิทธิเรียกร้องในหนี้เงินและหนี้อื่นนอกจากหนี้เงิน ให้สอดคล้องกับการบังคับหลักประกันที่เป็นทรัพย์สิน และเสนอแก้ไขหลักเกณฑ์การได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่ไม่มีลักษณะหมุนเวียนเปลี่ยนมือโดยปลอดภาระหลักประกัน ให้เหลือเพียงหลักความยินยอมของผู้รับหลักประกันประการเดียว เพื่อความเป็นธรรมและสอดคล้องกับกฎหมายต่างประเทศ รวมทั้งแก้ไขบทบัญญัติที่ผิดหลง
  • รายการ
    ปัญหาความไม่เป็นธรรมในสัญญารับซื้อกระแสไฟฟ้าภายใต้โครงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านครัวเรือนของประเทศไทย
    (Sripatum University, 2564) ธีรพงศ์ มุสิก
    โดยที่รัฐมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวทางของพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ในปัจจุบัน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแห่งชาติจึงได้ออกระเบียบว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าจากการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา พ.ศ. 2562 กำหนดให้ประชาชนที่ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาบ้านสามารถผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เองและในขณะเดียวกันก็ต้องมีสัญญาผูกพันขายกระแสไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าแห่งประเทศไทยแต่เพียงผู้เดียวในลักษณะการผูกขาด โดยการไฟฟ้าแห่งประเทศไทยจะรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากประชาชนที่เป็นคู่สัญญาในอัตรา 2.20 บาทต่อหน่วยและจำกัดการซื้อไม่เกิน 50 เมกะวัตต์ต่อปี ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
  • รายการ
    เหตุอันจำเป็นในการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457
    (หลักสูตรนิติศาสตรมหาบัณฑิต กลุ่มวิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม., 2561) จุลเดช จิตถวิล
    มาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 บัญญัติว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย (Keep the Peace without the Disaster) ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการ (Royal Command) ให้ใช้กฎอัยการศึก (Martial Law) ทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัติ (Conditions for Application of Provisions) นั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใด ๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึก (Contrary to the Provisions of Martial Law) ที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ (Unenforceable) และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน” ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติดังกล่าวแล้วมีปัญหาในทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในประเด็นของคำว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจําเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมีมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักร” กรณีดังกล่าวมิได้มีคำนิยามเอาไว้ จึงมีปัญหาว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจําเป็น” นั้นมีความหมายอย่างไร มีขอบเขตบังคับได้แค่ไหน เพียงไร จากการศึกษาพบว่า การที่พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 มิได้นิยามความหมาย และขอบเขตของคำว่า “เมื่อมีเวลามีเหตุอันจำเป็น” ในการประกาศใช้กฎอัยการศึกไว้ ในการประกาศใช้กฎอัยการศึกในอดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันนั้น จึงเป็นการประกาศใช้เมื่อมีเหตุอันจำเป็นเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องมาจากสภาวะสงครามระหว่างประเทศ (International War) การทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ (Coup of State Administration) และการป้องกันปัญหาการก่อการจลาจลภายในประเทศ (Internal Riots) เท่านั้น มิได้มีเหตุอื่นนอกเหนือจากนี้ ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 2 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พระพุทธศักราช 2457 โดยเพิ่มอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึกในกรณีที่มีเหตุอันจำเป็นกรณีมีเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติที่จะต้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือโดยเร่งด่วน หรือกรณีมีเหตุอันจำเป็นเร่งด่วนเพื่อป้องกันและควบคุมโรคติดต่อร้ายแรง (Serious Contagious Diseases) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนด เพื่อให้การใช้อำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึกของราชอาณาจักรไทยมีคุณประโยชน์ในเชิงให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนและสังคมโดยส่วนรวม (Assistance to the People and Collective Society) ได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ และเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องความล่าช้าของขั้นตอนระบบราชการ อันจะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมโดยส่วนรวม และส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป