S_PAY-10. วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก
URI ถาวรสำหรับคอลเล็กชันนี้
เรียกดู
กำลังเรียกดู S_PAY-10. วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก โดย ผู้เขียน "กุลประภัสสร์ รำพึงจิตต์"
ตอนนี้กำลังแสดง1 - 1 ของ 1
ผลลัพธ์ต่อหน้า
ตัวเลือกเรียงลำดับ
รายการ ผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์ กรมชลประทาน พ.ศ. 2553 - 2556 : ศึกษากรณีสำนักชลประทานที่ 11(2557-11-23T07:00:02Z) กุลประภัสสร์ รำพึงจิตต์การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึง (1) พัฒนาการด้านการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงยุคปัจจุบัน (2) ระดับผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำ (3) ปัจจัยทางการบริหาร ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำ (4) ปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางหรือส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำ และ (5) แนวทางที่เหมาะสมในการเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน พ.ศ. 2553 - 2556 ของสำนักชลประทานที่ 11 ผู้วิจัยได้เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการวิจัยเชิงผสม โดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพร่วมกัน เพื่อให้ได้คำตอบตามวัตถุประสงค์ในแต่ละข้อ สำหรับกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงปริมาณคือ (1) คณะผู้บริหาร (2) ข้าราชการและพนักงานราชการ และ (3) ลูกจ้างประจำของโครงการในสังกัดสำนักชลประทานที่ 11 จำนวน 264 คน และกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยเชิงคุณภาพ ประกอบด้วย (1) นักวิชาการของกรมชลประทาน (2) คณะผู้บริหาร (3) ข้าราชการและพนักงานราชการ (4) ลูกจ้างประจำ และ (5) ตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ จำนวน 35 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. การบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงยุคปัจจุบันมีการพัฒนาที่มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยแนวโน้มการบริหารจัดการน้ำในอนาคตจำเป็นต้องใช้การบริหารจัดการน้ำแบบผสมผสาน (IWRM) ทั้งแบบบูรณาการและแบบการบริหารจัดการลุ่มน้ำควบคู่กันไป 2. ระดับผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน พ.ศ. 2553 - 2556 ของสำนักชลประทานที่ 11 ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมิติด้านคุณภาพการให้บริการมีระดับผลสัมฤทธิ์มากที่สุด รองลงมาคือ มิติด้านการพัฒนาองค์กร และมิติด้านประสิทธิภาพการบริหารราชการ ส่วนมิติด้านประสิทธิผลตามพันธกิจ มีระดับผลสัมฤทธิ์น้อยที่สุด 3. ปัจจัยทางการบริหารที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีการบริหารงานภาครัฐแบบเครือข่าย (เครือข่ายการทำงาน) มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด รองลงมาตามลำดับคือ วัฒนธรรมองค์การ (วัฒนธรรมสัมพันธ์เกื้อกูล) ภาวะผู้นำ (การสร้างบารมี) และนโยบายขององค์การ (การออกแบบแผนงาน) โดยมีด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม (การพัฒนาจากภายนอกภาคราชการ) มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุด และยังพบว่า ปัจจัยทางการบริหารด้านการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมและด้านการบริหารงานภาครัฐแบบเครือข่าย สามารถทำนายความเป็นไปได้ที่มีผลต่อระดับผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำได้มากที่สุด 4. ปัญหาและอุปสรรคที่ขัดขวางหรือส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน พ.ศ. 2553 - 2556 ของสำนักชลประทานที่ 11 ได้แก่ (1) ปัญหาด้านงบประมาณที่ต้องพึ่งพาการเมือง ซึ่งส่งผลให้การดำเนินการไม่สามารถทำได้แล้วเสร็จตามเงื่อนไขหรือภายในระยะเวลาที่กำหนด (2) ปัญหาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและลักษณะของภูมิประเทศขาดความเหมาะสมในการดำเนินงาน (3) ปัญหาด้านการประชาสัมพันธ์ที่ไม่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างทั่วถึง จึงทำให้เกิดปัญหาและความขัดแย้งด้านอื่น ๆ ตามมา และ (4) ปัญหาด้านการบริหารงานภายในองค์กร รวมไปถึงการถ่ายโอนภารกิจงานไปสู่หน่วยงานส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ 5. แนวทางที่เหมาะสมในการเสริมสร้างผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการน้ำตามแผนยุทธศาสตร์กรมชลประทาน พ.ศ. 2553 - 2556 ของสำนักชลประทานที่ 11 ได้แก่ (1) ฝ่ายการเมือง ไม่ควรแทรกแซงการดำเนินภารกิจในการบริหารจัดการน้ำในทุกๆ มิติ และควรสนับสนุนการดำเนินโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่ (2) ควรสนับสนุนการศึกษาวิจัยโครงการสร้างพื้นที่กักเก็บน้ำในทุกมิติรอบด้าน ทั้งทางด้านผลกระทบที่จะเกิดขึ้น แนวทาง รูปแบบ วิธีการที่เหมาะสม และคุ้มค่า (3) ควรเร่งเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และความพร้อมให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ ทั้งในด้านบุคลากร และเครื่องมือในการดำเนินภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ (4) ควรมีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับกิจกรรมข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แก่ผู้มีส่วนได้เสียของโครงการ และ (5) เร่งพัฒนาระบบการบริหารงานที่มุ่งเน้นให้เกิด ผลสัมฤทธิ์ในระดับสูง