Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/741
Title: ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองกลไกทางเทคโนโลยี
Authors: อนุชา เอี่ยมมี
Keywords: กฎหมาย
การคุ้มครอง
ลิขสิทธิ์
อินเตอร์เน็ต
เทคโนโลยี
Issue Date: 13-February-2551
Abstract: แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เพื่อให้ความคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์โดยตรงแล้วก็ตาม แต่งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นงานประเภทหนึ่งประเภทใดที่กฎหมายลิขสิทธิ์บัญญัติไว้เท่านั้น แต่ไม่ได้ครอบคลุมถึงกลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยีที่เจ้าของผลงานลิขสิทธิ์ นำมาใช้เพื่อป้องกันการละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์บนอินเตอร์เน็ต หรือเพื่อใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการสิทธิของเจ้าของงานลิขสิทธิ์ นอกเหนือจากมาตรการทางกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบันหรือจะมีขึ้นในอนาคต จากการศึกษา พบว่าประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองกลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์ เกิดขึ้นเนื่องจากมาตรการทางกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ตลอดจนพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 ผู้ศึกษาเห็นว่ายังไม่มีมาตรการทางกฎหมายหรือบทบัญญัติในกฎหมายฉบับใด ที่สามารถนำมาปรับใช้เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว และเพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมในเรื่องของกลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยีที่เจ้าของงานลิขสิทธิ์นำมาใช้เพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์โดยตรง ถึงแม้ว่างานลิขสิทธิ์จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 แล้วก็ตาม แต่งานที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์นั้น จะต้องเป็นงานประเภทหนึ่งประเภทใดที่กฎหมายลิขสิทธิ์บัญญัติไว้เท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาจากลักษณะของกลไกทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์แล้ว ผู้ศึกษาเห็นว่ากลไกทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์ไม่สามารถจัดเป็นงานประเภทหนึ่งประเภทใดอันถือได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ แต่หากได้มีการพิจารณาความหมายของงานอันเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โดยละเอียดแล้ว พบว่าประเภทงานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับกลไกทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์ได้คือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ แต่เนื่องจากกลไกทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์ เป็นเพียงผลที่เกิดขึ้นจากการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น ยังไม่ใช่ตัวโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่อย่างใด กลไกทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์แต่อย่างใด เมื่อพิจารณาความหมายของกลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์ กับการให้ความคุ้มครองตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ... ผู้ศึกษาเห็นว่าหากเกิดกรณีการทำลายหรือหลีกเลี่ยงกลไกทางเทคโนโลยีที่ใช้ปกป้องงานลิขสิทธิ์ สามารถนำหลักความผิดตามร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ... มาบังคับใช้ในการฟ้องร้องเพื่อชดใช้และเยียวยาความเสียหายได้ ทั้งนี้เมื่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็ไม่ได้ให้บทนิยามของคำว่ากลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยีไว้แต่อย่างใด ผู้ศึกษามีความเห็นว่าหากจะมีการปรับปรุงหรือกำหนดเพิ่มเติมบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาดังกล่าวข้างต้น ควรเลือกปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้ความคุ้มครองงานลิขสิทธิ์มากที่สุด เพียงแต่บทบัญญัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้มากว่าสิบปี ทำให้ไม่สามารถนำมาปรับใช้และไม่ครอบคลุมประเด็นปัญหาภายใต้สถานการณ์ในปัจจุบัน ในยุคที่มีการสร้างสรรค์และจัดเก็บผลงานในรูปข้อมูลดิจิตอลและมีการเผยแพร่งานบนโลกอินเตอร์เน็ตกันอย่างแพร่หลาย หรือหากจะมีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้ความคุ้มครองแก่กลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องงานลิขสิทธิ์โดยตรงแล้ว ผู้ศึกษาเห็นว่ากฎหมายที่บัญญัติขึ้นมานั้นจะต้องมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับข้อเท็จจริงหรือประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และควรกำหนดบัญญัติให้สอดคล้องกับเนื้อหาสาระของกฎหมายระหว่างประเทศ นอกจากนี้การกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ต้องอาศัยความละเอียดอ่อนกว่าการกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายลักษณะอื่นๆ ซึ่งผู้กระทำความผิดมีความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มาประกอบการกระทำความผิด ผู้ที่จะมีส่วนในการกำหนดบทบัญญัติของกฎหมายก็จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิชาการทางคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้สามารถเข้าใจกระบวนการทุกขั้นตอนเกี่ยวกับกลไกหรือมาตรการทางเทคโนโลยี ที่นำมาใช้ในการปกป้องการละเมิดงานลิขสิทธิ์ ด้วยเช่นกัน
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/741
Appears in Collections:สารนิพนธ์



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.