Please use this identifier to cite or link to this item: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/726
Title: ปัญหาทางกฎหมายเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า
Authors: สฤษดิ์ วินทะไชย
Keywords: กฎหมาย
การแข่งขันทางการค้า
Issue Date: 13-February-2551
Abstract: พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 จัดได้ว่าเป็นกฎหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญมากที่สุดฉบับหนึ่งของประเทศไทย เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มุ่งต่อการธำรงรักษา “กลไกตลาด” ของระบบเศรษฐกิจไทยให้ดำเนินไปอย่างเป็นปกติ ปราศจากการแทรกแซงจากผู้ประกอบธุรกิจบางรายด้วยวิธีการอันไม่ชอบธรรม ตลอดจนการป้องกันการผูกขาดทางการค้า และจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค อันเป็นวัตถุประสงค์หลักของกฎหมายดังกล่าว กรณีที่กฎหมายไม่ให้สิทธิที่จะผูกขาดไว้โดยเฉพาะ ก็ยังเห็นได้ว่ากฎหมายไม่ควรที่จะถือว่า “การมีอำนาจเหนือตลาด” หรือ “การผูกขาด” เป็นความผิดในตัวเอง หากพิจารณาถึงความจริงทางธุรกิจ ที่องค์กรธุรกิจพยายามปรับปรุงคุณภาพของสินค้า พัฒนากระบวนผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลงและสามารถขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งได้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะทำให้สินค้าของตนขายได้มากขึ้นและมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้น ยิ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากเท่าใด ก็มีอำนาจเหนือตลาดที่จะสามารถกำหนดทิศทางของสินค้าและราคาในตลาดนั้นมีมากขึ้นตามไปด้วย หากกฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะป้องกันมิให้องค์กรธุรกิจใดมีอำนาจเหนือตลาด หรือผูกขาด ก็จะไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในทางธุรกิจ และนอกจากการบังคับใช้กฎหมายเช่นนั้นจะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแล้ว ยังจะก่อให้เกิดผลเสียแก่ผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศได้ เพราะผู้ผลิตจะไม่มีแรงจูงใจที่จะปรับปรุงคุณภาพสินค้าและพัฒนากระบวนการผลิตของตน เนื่องจากไม่อาจแน่ใจได้ว่าหากวันใดธุรกิจมีส่วนแบ่งตลาดมาก กฎหมายจะเข้ามาแทรกแซงธุรกิจของตน ดังนั้นหากอำนาจเหนือตลาดนั้นเกิดขึ้นจากประสิทธิภาพ (Efficiency) ในการดำเนินธุรกิจก็อาจจะเกิดขึ้นได้ภายใต้กฎหมาย และหากขนาด หรืออำนาจเกิดขึ้นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ปัญหาที่ต้องคำนึงถึงต่อไปคือ ให้ความสนใจหรือเข้าไปสอดส่องดูแลเรื่อง “พฤติกรรม” (Behavior) ของธุรกิจต่างๆ ที่แข่งขันอยู่ในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ว่าได้ทำการแข่งขันในตลาดอย่าง “เป็นธรรม” หรือไม่ ความเป็นธรรมในที่นี้ควรให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ คือ องค์กรธุรกิจควรแข่งขันกันในเรื่องของ “ประสิทธิภาพ” ของแต่ละองค์กร โดยอาจจะเป็นการแข่งขันกันผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมากกว่าคู่แข่ง การบริหารจัดการ กระบวนการผลิต และผลิตคุณภาพ (Productivity) เหล่านี้เป็นต้น และหากมีการใช้กลวิธีที่ไม่เป็นธรรมในการทำให้คู่แข่งต้องล้มเลิกกิจการ เช่น การลดราคาสินค้าต่ำกว่าต้นทุน ทำให้บริษัทคู่แข่งขนาดเล็กที่มีสายป่านทางการเงินที่สั้นกว่าไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ การกีดกันคู่แข่งออกจากแหล่งวัตถุดิบหรือปัจจัยที่จำเป็นในการผลิต การทำให้คู่แข่งรายใหม่ไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ กรณีเช่นนี้ที่เป็นบทบาทของกฎหมายที่จะเข้ามาดูแลป้องกันมิให้เกิดการกระทำที่ไม่เป็นธรรมนี้ขึ้น หรือหากเกิดขึ้นแล้วก็พยายามหาทางระงับให้เร็วที่สุดก่อนที่จะเกิดผลเสียต่อการแข่งขันในตลาดสินค้านั้น สมควรปรับปรุงแก้ไข บทบาทของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่เหมาะสมในเรื่องพฤติกรรมขององค์กรธุรกิจต่างๆ ที่แข่งขันอยู่ในตลาด โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดว่าได้ทำการแข่งขันในตลาดอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ความเป็นธรรมในที่นี้ควรสอดคล้องกับเศรษฐกิจ คือควรแข่งขันในเรื่องของประสิทธิภาพขององค์กรโดยเน้นเรื่องแข่งขันด้านการผลิตที่มีคุณภาพ และหากกฎหมายการแข่งขันทางการค้าจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องราคาสินค้าแล้ว ควรที่จะเป็นบทบาทในการรักษากลไกของตลาดให้ดำเนินไปได้อย่างเป็นปกติโดยไม่มีองค์กรธุรกิจใดเข้าไปบิดเบือนการทำงานของกลไกตลาดด้วยการตกลงราคาร่วมกันกำหนดราคาสินค้า มากกว่าการเข้าไปตรวจสอบว่าระดับราคาที่ผู้ผลิตรายใดรายหนึ่งกำหนดขึ้นเพียงลำพัง “เป็นธรรม” หรือไม่ และการคุ้มครองคู่แข่งขันในตลาดที่มิได้รับความชอบธรรม ที่มีการใช้วิธีการที่ไม่ถูกทำนองคลองธรรมเพื่อทำลายคู่แข่ง และเอาเปรียบคู่แข่งขัน เพราะการกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายกลไกการแข่งขันในตลาด
URI: http://dspace.spu.ac.th/handle/123456789/726
Appears in Collections:สารนิพนธ์



Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.